การแสดงภาพพิมพ์และวาดเส้นนานาชาติ ครั้งที่ 3 (The 3rd Bangkok Triennale International Print and Drawing Exhibition) / หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, 17 พฤษภาคม – 29 กรกฎาคม 2555
[“Essence, Truth, Reality No.13” บุญมี แสงขำ, Mezzotint 105-75 ซม. ปี 2554]
งานภาพพิมพ์และวาดเส้นรวมอยู่ในงานศิลปะประเภทเลขนศิลป์หรือ Graphic art ซึ่งแสดงความงามของร่องรอยจากวิธีการสร้างสรรค์ ต่างจากงานจิตรกรรมที่แสดงความงามของสีและการระบาย หรือประติมากรรมที่แสดงความงามจากมวลของรูปทรง
งานภาพพิมพ์ (print) สร้างรูปรอยขึ้นมาจากแม่พิมพ์ ส่วนงานวาดเส้น (drawing) สร้างรูปร่างขึ้นมาจากการขีดเขียนโดยตรง
ภาพพิมพ์ยังแบ่งตามลักษณะของแม่พิมพ์ได้ 4 ประเภท คือ
1. แม่พิมพ์ผิวนูน ซึ่งภาพจะเกิดจากหมึกที่ติดอยู่บนผิวนูนของแม่พิมพ์ เช่น ภาพพิมพ์แกะไม้ (woodcut) ภาพพิมพ์แกะสลัก (engraving) ภาพพิมพ์ยาง (linocut) และภาพพิมพ์วัสดุปะติด (collagraph)
2. แม่พิมพ์ร่องลึก ภาพจะเกิดจากหมึกที่ติดอยู่ในร่องของแม่พิมพ์โลหะ เช่น ภาพพิมพ์จารเข็ม (drypoint) ภาพพิมพ์กัดกรด (etching) ภาพพิมพ์โลหะไล่น้ำหนัก (mezzotint) และภาพพิมพ์กัดกรดไล่น้ำหนัก (aquatint)
3. แม่พิมพ์ผิวเรียบ ภาพจะเกิดจากความไม่เข้ากันระหว่างน้ำกับน้ำมันบนแม่พิมพ์ เช่น ภาพพิมพ์หิน (lithograph) และภาพพิมพ์ออฟเซต (offset)
4. แม่พิมพ์ฉลุลาย ซึ่งภาพจะเกิดจากการลงสีผ่านช่องที่ฉลุไว้บนแม่พิมพ์ เช่น ภาพพิมพ์ฉลุลาย (stencil) และภาพพิมพ์ตะแกรงไหน (silk screen)
เดิมทีทั้งงานภาพพิมพ์และวาดเส้นใช้เพื่อสื่อความหมายหรือประโยชน์ใช้สอยอย่างอื่น ต่อมาจึงกลายเป็นงานศิลปะที่แสดงออกด้านสุนทรียภาพประเภทหนึ่ง ซึ่งมีคุณค่าในความเป็นต้นแบบไม่ด้อยไปกว่างานประเภทอื่น
งานภาพพิมพ์ในเมืองไทยเริ่มมาพร้อมกับการพิมพ์ มีการตั้งกองแกะไม้ขึ้นในปี 2448 เพื่อทำต้นฉบับตำราเรียน และต่อมาได้กลายเป็นโรงเรียนเพาะช่าง การทำงานภาพพิมพ์ในเชิงศิลปะเริ่มขึ้นในมหาวิทยาลัยศิลปากรตั้งแต่ปี 2496 และเป็นสาขาวิชาหนึ่งในปี 2511 การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติก็เริ่มมีสาขาภาพพิมพ์ในปี 2504 ชลูด นิ่มเสมอ บัณฑิตคนแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นศิลปินที่บุกเบิกศิลปะภาพพิมพ์เป็นคนแรก และได้รางวัลเหรียญทองในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติจากงานภาพพิมพ์เป็นคนแรกด้วย เขาเป็นศิลปินไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลในงานแสดงภาพพิมพ์นานาชาติที่ยูโกสลาเวียและญี่ปุ่น และเป็นผู้วางรากฐานวิชาภาพพิมพ์ในมหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์
ต่อมาก็มีศิลปินภาพพิมพ์ที่มีคุณภาพเกิดขึ้นมากมาย และได้รางวัลจากการประกวดภาพพิมพ์นานาชาติบ่อยครั้ง เช่น อิทธิพล ตั้งโฉลก, พิษณุ ศุภนิมิตร, ถาวร โกอุดมวิทย์, ญาณวิทย์ กุญแจทอง, สุรสีห์ กุศลวงศ์ เป็นต้น จนได้ชื่อว่าเป็นยุคทองของภาพพิมพ์ต่อเนื่องกันมาร่วม 2 ทศวรรษ ระหว่างปี 2520-2540 กล่าวได้ว่าในช่วงเวลานั้นงานศิลปะภาพพิมพ์โดดเด่นและก้าวหน้า รางวัลเหรียญทองในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติส่วนใหญ่ก็เป็นงานภาพพิมพ์
จากนั้นพัฒนาการก็ซบเซาไปบ้าง กระทั่งมหาวิทยาลัยศิลปากรริเริ่มจัดการแสดงภาพพิมพ์และวาดเส้นนานาชาติครั้งแรกขึ้นในปี 2546 วงการภาพพิมพ์จึงกระเตื้องตื่นตัวขึ้นมาอีกครั้ง
การแสดงภาพพิมพ์และวาดเส้นนานาชาติในปีนี้เป็นครั้งที่ 3 มีศิลปินจาก 60 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมประกวดและแสดง ภาพรวมอาจจะอ่อนแรงลงกว่าครั้งก่อน แต่ยังคงความน่าตื่นเต้นในรูปแบบผลงานอันหลากหลาย จากศิลปินที่มาจากสังคมและวัฒนธรรมต่างกัน เทคนิคการทำงานก็มีความเลิศล้ำในแนวทางของแต่ละคน
อย่างงานที่ได้รางวัล Grand Prize ในประเภทภาพพิมพ์คือ “Essence, Truth, Reality No.13” ของ บุญมี แสงขำ เป็นภาพพิมพ์ mezzotint ซึ่งแสดงน้ำหนักเข้มดำทั่วทั้งภาพ แล้วค่อยๆ ขูดเกลี่ยผิวแม่พิมพ์โลหะอย่างละเอียดอ่อน ปรากฏเป็นรูปผลไม้และเมล็ดในความมืด แสดงผิวสัมผัสนุ่มหยุ่นของผลและความมันวาวของเมล็ด วางจังหวะของความสุกงอม ผุดเล็ด และร่วงหล่น อย่างงดงาม ตามเนื้อหาของศิลปินที่ต้องการบอกถึงสัจธรรมในพุทธศาสนา อนิจจังหรือความไม่แน่นอนของชีวิตแทนค่าด้วยรูปผลไม้สุกงอมร่วงหล่นในธรรมชาติ และความเชื่อเรื่องกรรมตามเหตุปัจจัยก็แทนค่าด้วยเมล็ดที่ร่วงออกมาจากผลนั้น บอกถึงความสืบเนื่องไม่จบสิ้นตามผลของกรรมในจินตภาพของศิลปิน สมบูรณ์ด้วยเทคนิคแมซโซตินต์อันเหมาะสม
ส่วนงานที่ได้รางวัล Grand Prize ในประเภทวาดเส้นคือ “Hell and Heaven” ของ Cyprian Bielaniec ศิลปินจากโปแลนด์ เป็นภาพวาดด้วยดินสอบนกระดาษธรรมดา เรียบง่ายแต่ล้ำลึก เป็นรูปประตูและกำแพงที่ผุกร่อนไปตามกาลเวลา เบื้องบนคือท้องฟ้ามีริ้วลายเมฆเวิ้งว้าง รอยดินสอแรเงาน้ำหนักและพื้นผิวของวัตถุอย่างละเอียดลออ เห็นเป็นผิวโลหะ อิฐ หิน เนื้อสีและปูนกะเทาะร่อน รวมถึงปุยเมฆกระจัดกระจาย แต่ก็เบาบางด้วยเป็นเพียงร่างของรอยดินสอบนกระดาษ และให้ความรู้สึกชั่วครู่ยาม เปราะบางเหมือนกับชีวิตในวาระสุดท้าย เป็นประตูที่ไม่รู้จะเปิดไปสู่นรกหรือสวรรค์
ด้วยลักษณะจำเพาะทางเทคนิค งานภาพพิมพ์เหมาะที่จะแสดงความงามของร่องรอยพื้นผิวจากแม่พิมพ์หลากประเภท อย่างงาน “Kaleidoscopic Complexity – 16” ของ Anisuzzaman ศิลปินจากบังคลาเทศ สร้างร่องรอยขูดขีดขึ้นบนแม่พิมพ์ไม้ และอาศัยความเป็นระนาบขอบคมของแม่พิมพ์ไม้เพื่อสะท้อนชีวิตสมัยใหม่ที่แวดล้อมด้วยวัตถุหยาบกระด้างระคายเคือง บอกความรู้สึกทึบตัน แต่ก็แฝงความกังวลระแวงระวังไม่ปลอดภัย
ภาพดอกไม้ในเงาน้ำท่ามกลางความมืดดำในงาน “Sound of a Flowing Stream No.5” ของ พัดชา แก้วทองตาล เป็นความงามอันน่าสะเทือนใจ จากลักษณะขัดกันของภาพดอกไม้ที่อ่อนโยนตามธรรมชาติ กับผิวสัมผัสอันแข็งกระด้างของแม่พิมพ์กัดกรดบนโลหะ และยังเป็นมุมมองอันหลอกตาจากเงาสะท้อนในน้ำ
งานวาดเส้น “Agricultural Way of Life Figurative/Symbolic” ของ วิวัฒน์ จินดาวงศ์ ก็ผสมคุณสมบัติของแท่งถ่านเครยองและผงถ่านคาร์บอนเข้าด้วยกัน เพื่อให้ได้ทั้งพื้นผิวและความนุ่มนวลของน้ำหนัก วาดเสื้อเก่าๆ ของชาวไร่ชายนาที่แขวนไว้ในความมืดดำ เป็นสัญลักษณ์ของวิถีเกษตรกรรมที่ต้องใช้แรงงานอย่างหนักหน่วง
ขณะที่งาน “Human” ของ สุวพงศ์ สุทัศน์ ณ อยุธยา บอกเล่าความทุกข์ยากของมนุษย์ จากการวาดรูปทรงคนผิดส่วนในท่าคุดคู้จนศีรษะจมหายไปในร่างมืดดำ นิ้วมือและนิ้วเท้าประสานแผ่ออกข้างละเก้านิ้ว บอกความสับสนฟุ้งซ่าน วาดขึ้นด้วยหมึกจีนที่ให้พื้นผิวและสีอะคริลิกที่ให้น้ำหนักทึบดำ
การเลือกใช้เทคนิคและวิธีการที่เหมาะสมมีผลต่อความสำเร็จของงานภาพพิมพ์และวาดเส้นเป็นอย่างมาก เนื่องจากงานแต่ละประเภทให้ความรู้สึกสัมผัสต่างกัน ด้วยเสน่ห์ของร่องรอยและรูปร่างที่ต่างกัน เนื้อหาและรูปแบบมิได้จำกัด ความงามของงานภาพพิมพ์และวาดเส้นจึงเป็นศิลปะของวิธีการโดยแท้.
[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]