วันพุธที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2552

หลังพิงทางวัฒนธรรม

หนังกับหนังสือ / วีระยศ สำราญสุขทิวาเวทย์ / librarybooks, พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2552

หนังกับหนังสือ / วีระยศ สำราญสุขทิวาเวทย์

สมองของมนุษย์ย่อมมีขีดจำกัดในการจดจำข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลที่มีรายละเอียดซับซ้อนและไม่ได้ใช้เป็นประจำ หนังสือจึงมีประโยชน์ในการบันทึกข้อมูลเพื่อเก็บรักษาหรือเผยแพร่ ทำให้เกิดการพัฒนาความรู้และวิทยาการต่างๆ จนก้าวหน้าเรื่อยมา

แม้ปัจจุบันจะมีการเก็บบันทึกข้อมูลในรูปแบบของสื่อดิจิตอล แต่หนังสือก็ยังเป็นสื่อที่มีความจำเป็น เพราะใช้งานสะดวกและเชื่อถือได้มาก ความผิดเพี้ยนน้อย หนังสือจึงจะอยู่กับความใฝ่รู้ของมนุษย์ไปอีกนาน ตามบทบาทเฉพาะและลักษณะการใช้งานของมัน ขณะที่สื่ออื่นๆ ก็พัฒนาขึ้นมาตามความสะดวกในการทำหน้าที่ของตน

เช่นเดียวกับหนังสือ “หนังกับหนังสือ” ของ วีระยศ สำราญสุขทิวาเวทย์ ซึ่งรวบรวมข้อมูลความรู้เกี่ยวกับวรรณกรรมไทยที่เคยนำมาทำเป็นภาพยนตร์ สื่อ 2 แบบซึ่งมีจุดเน้นต่างกัน แต่ต่างเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน และสะท้อนถึงความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมหลายมิติ เห็นทั้งชีวิตคน สังคม และการเมืองในแต่ละยุคสมัย

เดิมทีงานเขียนชุดนี้เคยตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรมมาก่อน ช่วงระหว่างเดือนมกราคม ปี 2549 ถึงเดือนสิงหาคม ปี 2551 วีระยศเล่าถึงภาพยนตร์ที่มีที่มาจากวรรณกรรม พร้อมทั้งให้ข้อมูลเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ความเป็นมาของวรรณกรรมเรื่องนั้น ชีวิตของผู้ประพันธ์ คณะทำงานในการสร้างเป็นภาพยนตร์ ตลอดจนสภาพแวดล้อมของสังคมในช่วงเวลานั้น อันมีผลต่อการสร้างงานหรือความสำเร็จ

ทั้งหมดเล่าอย่างย่นย่อในแต่ละเรื่อง แต่ก็ให้ข้อมูลครบถ้วน พร้อมทั้งแสดงทรรศนะประกอบบ้าง มีใบปิดหนังไทยคลาสสิกที่กล่าวถึงครบทุกเรื่อง ช่วยเพิ่มคุณค่าให้หนังสืออีกไม่น้อย เพราะฉะนั้นจึงเหมาะที่จะเก็บไว้อ้างอิงเมื่อต้องการค้นคว้าเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างวรรณกรรมกับภาพยนตร์ไทยในอดีตที่ผ่านมา

หนังหรือหนังสือที่วีระยศเลือกมาเขียนถึงแต่ละเรื่อง ล้วนมีคุณภาพอยู่ในขั้นคลาสสิก นำกลับมาอ่านหรือชมได้อย่างมีอรรถรสเสมอ แม้จะผ่านกาลเวลามานานวันแล้ว

แล้วจะเห็นว่าวรรณกรรมกับภาพยนตร์ในบ้านเราผูกพันกันมาตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่องแรกที่คนไทยทำเองทั้งหมด คือ “โชคสองชั้น” ซึ่ง ‘แสงทอง’ นักประพันธ์ในยุคบุกเบิกเป็นผู้เขียนบท และจะเห็นบทบาทของภาพยนตร์ที่พยายามนำเสนอต่อสังคมนอกเหนือจากความบันเทิง อย่างหนังเรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” ซึ่ง ปรีดี พนมยงค์ เขียนเป็นนิยายขึ้นมา ก่อนที่จะถ่ายทำเป็นหนัง เพื่อแสดงเจตนารมณ์อันไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมสงคราม ขณะที่การเมืองระหว่างประเทศกำลังตึงเครียด และจะเคลื่อนเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง

ระยะแรกบุคลากรในวงการหนังหลายต่อหลายคนก็ถ่ายโอนมาจากคนทำหนังสือซึ่งเป็นสื่อที่มีมาก่อน วรรณกรรมกับภาพยนตร์จึงสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด กระนั้นก็มีหลายเรื่องที่หนังสือยังคงดีกว่าหนัง และหลายเรื่องที่หนังทำได้ดีกว่าหนังสือ ทั้งนี้เพราะเป็นสื่อคนละประเภทกันนั่นเอง และต้องใช้องค์ประกอบทางศิลปะหรือความเชี่ยวชาญที่ต่างกัน เรื่องที่ดีทั้งหนังและหนังสือ ส่วนใหญ่เป็นเพราะผู้สร้างภาพยนตร์เลือกงานประพันธ์ชั้นดีมาทำ และเข้าถึงในศิลปะภาพยนตร์ที่ตนทำด้วย

เช่น เรื่อง “แผลเก่า” ของ ไม้ เมืองเดิม และเรื่อง “เพื่อน-แพง” ของ ยาขอบ ซึ่ง เชิด ทรงศรี นำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ภายใต้ความงามของบรรยากาศความเป็นไทยในชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ซึ่งเขาก็ได้ดัดแปลงบทประพันธ์ให้เหมาะกับการนำเสนอเป็นภาพยนตร์ ขณะเดียวกันก็ช่วยขับใจความสำคัญของวรรณกรรมให้โดดเด่นขึ้นด้วย

ดังที่วีระยศวิเคราะห์ไว้ว่า “ระหว่างตัวหนังสือกับภาพยนตร์ เราจะเห็นได้ว่า แผลเก่า ของ ไม้ เมืองเดิม จะบรรยายภาพระยะใกล้ของตัวละคร ฉาก และเหตุการณ์ต่างๆ ตลอดเรื่อง แต่ แผลเก่า ของ เชิด ทรงศรี กลับบรรยายภาพ ตัวละคร การแสดงอารมณ์ การใช้เสียง รวมถึงการตัดต่อภาพให้ออกมาเป็นมุมกว้าง เพื่อให้เหมาะสมกับการเป็นหนังมหากาพย์แห่งความรักในระบบภาพยนตร์ 70 ม.ม. ตามความคิดของเขา”

“การแต่งเติมเรื่องราว แผลเก่า ของ เชิด ทรงศรี ก็เพื่อเติมความรู้สึกเบื้องลึกของตัวละครให้สมบูรณ์ (...) ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เชิดเติมแต่งเพื่อให้คนดูได้มองเห็น แผลแห่งความรัก แผลความหลัง และแผลแห่งความสะเทือนใจ เพราะว่านั่นคือรอยแผลแห่งความรักอันสมบูรณ์ของมนุษย์ที่ เชิด ทรงศรี ตบแต่งให้เป็นความยิ่งใหญ่ของ ไม้ เมืองเดิม” (หน้า 173)

เช่นเดียวกับเรื่อง “จับตาย” ของ มนัส จรรยงค์ ซึ่ง โสภณ เจนพานิช นำมาถ่ายทอดเป็นภาพเคลื่อนไหวได้อย่างลงตัว หรือเรื่อง “ลูกอีสาน” ของ คำพูน บุญทวี ก็ผ่านการถ่ายทอดของ วิจิตร คุณาวุฒิ ได้อย่างถึงแก่น และเรื่อง “ผีเสื้อและดอกไม้” ของ ‘นิพพาน’ เมื่อผ่านการกำกับฯ ของ ยุทธนา มุกดาสนิท ก็เป็นที่ประทับใจไม่แพ้หนังสือ

มิเพียงวรรณกรรมคุณภาพ วรรณกรรมเพื่อความบันเทิงที่ประสบความสำเร็จหลายเรื่อง เมื่อแปลงมาเป็นภาพยนตร์แล้ว ก็สร้างปรากฏการณ์ไม่น้อยหน้าไปกว่ากัน เช่น เรื่อง “อินทรีแดง” ของ เศก ดุสิต ซึ่งสร้างชื่อให้ มิตร ชัยบัญชา กลายเป็นพระเอกอมตะด้วยเรื่องชุดเดียวกันนี้หลายเรื่อง หรือเรื่อง “เล็บครุฑ” ของ ‘พนมเทียน’ ก็มีการนำมาดัดแปลงเป็นหนังหลายครั้งในยุคสมัยที่ต่างกัน และ “อกสามศอก” ของ อรวรรณ ก็ถือว่าเป็นต้นแบบของนิยายบู๊และหนังบู๊ไทยในหลายๆ อย่าง

ทางฝ่ายนิยายจากนักเขียนสตรีทั้งเรื่องแนวพาฝันและแนวชีวิตครอบครัวก็มีอยู่หลายเรื่องที่ถูกนำมาสร้างเป็นหนังซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่รู้เบื่อ อย่าง “บ้านทรายทอง” ของ ก.สุรางคนางค์ ซึ่งสร้างชื่อให้นางเอกที่มารับบทนำในทุกยุคทุกสมัย หรือ “สลักจิต” ของ บุษยมาส ก็เป็น 1 ใน 7 นิยายพาฝันที่ชาวบ้านรักและอยากให้สร้างซ้ำมากที่สุด

หนังสือยังเล่าถึงวรรณกรรมแนวสะท้อนสังคมและการเมืองหลายเรื่องที่กลายมาเป็นภาพยนตร์ แม้จะประสบความสำเร็จบ้างไม่ประสบความสำเร็จบ้าง แต่ก็กลายเป็นตำนานที่สร้างความเข้มข้นและความหลากหลายในเนื้อหาให้แก่หนังไทยที่ผ่านมา เช่น “ระย้า” ของ สด กูรมะโรหิต กำกับฯ โดย เพิ่มพล เชยอรุณ ”เรือมนุษย์” ของ กฤษณา อโศกสิน กำกับฯ โดย ดอกดิน กัญญามาลย์ “เขาชื่อกานต์” ของ สุวรรณี สุคนธา กำกับฯ โดย มจ.ชาตรีเฉลิม ยุคล และ “จนตรอก” ของ ชาติ กอบจิตติ เมื่อดัดแปลงเป็นหนังใช้ชื่อว่า “บ้าน”

เหล่านี้เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่เปิดให้ค้นคว้าต่อได้อีกมากสำหรับผู้ที่สนใจเป็นพิเศษ อย่างหนึ่งที่เห็นได้คือภาพรวมอันรุ่มรวยและหลากหลายของวรรณกรรมและภาพยนตร์ไทยในยุคสมัยที่ผ่านมา ซึ่งรอให้ผู้แลเห็นหยิบขึ้นมาพิจารณาและตีความเพื่อสร้างสรรค์ใหม่ต่อไปข้างหน้า มิจำกัดอยู่แค่วงการหนังสือหรือวงการหนัง แต่เป็นส่วนหนึ่งในพื้นฐานของวัฒนธรรมร่วมสมัยที่แวดล้อมหล่อหลอมเรามา.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]

วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ความงามของชีวิต

คัทซึชิคะ โฮะคุไซ / ชัยยศ อิษฏ์วรพันธุ์ – เขียน / สารคดีภาพ, พิมพ์ครั้งที่ 1 ตุลาคม 2552

คัทซึชิคะ โฮะคุไซ / ชัยยศ อิษฏ์วรพันธุ์ – เขียน

ภาพ “คลื่นใหญ่นอกคะนะงะวะ” ของ โฮะคุไซ (Hokusai, ปี ค.ศ. 1760-1849) เป็นหนึ่งในผลงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่และเป็นที่รู้จักแพร่หลายไปทั่วโลก จนกลายเป็นเสมือนภาพแทนของศิลปะและจิตวิญญาณญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในงานภาพพิมพ์แกะไม้ของญี่ปุ่นที่ขึ้นถึงจุดสูงสุดทางสุนทรียภาพ ทั้งความเป็นนายเหนือเทคนิค การแสดงออกของรูปทรงที่สมบูรณ์แบบ และเนื้อหาที่สะท้อนพลังของจิตใจในวัฒนธรรม รวมถึงสะท้อนสัจธรรมตามวิถีธรรมชาติอีกด้วย

ภาพนี้เป็นหนึ่งในภาพทิวทัศน์ชุดภูเขาฟูจิซึ่งโฮะคุไซทำออกมาทั้งหมด 46 ภาพ เป็นภาพภูเขาฟูจิในมุมมองที่แตกต่างกันจากทั่วเกาะญี่ปุ่น สะท้อนทั้งความงามของภูมิประเทศและวิถีชีวิตของผู้คนอันหลากหลาย ซึ่งนักประวัติศาสตร์ศิลป์ก็ได้ยกย่องให้เป็นหนึ่งในภาพทิวทัศน์ที่ยิ่งใหญ่ชุดหนึ่งของโลกเช่นกัน

รายละเอียดของภาพ “คลื่นใหญ่นอกคะนะงะวะ” บอกถึงปรัชญาในชีวิตและการทำงานของโฮะคุไซได้อย่างชัดแจ้ง ภาพคลื่นยักษ์อันทรงพลังและงามสง่า สำแดงลีลาการเคลื่อนไหวที่ทั้งงดงามและน่าเกรงขามไปพร้อมกัน ระหว่างริ้วคลื่นมีเรือชำแรกผ่านเข้ามาด้วยเรี่ยวแรงน้อยนิดของมนุษย์ที่พยายามร่วมแรงร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวกัน แม้จะเทียบไม่ได้เลยกับพละกำลังการเคลื่อนไหวของคลื่นยักษ์ แต่ก็รู้สึกได้ถึงจิตใจอันมุ่งมั่นที่จะฝ่าข้ามไปให้สำเร็จ โดยมีภูเขาฟูจิเป็นเสมือนองค์ประธานแห่งศรัทธาลอยอยู่ไกลออกไปในฉากหลัง

ภาพนี้ยังบ่งบอกถึงปรัชญาชีวิตและจิตวิญญาณของชาวญี่ปุ่นด้วย การมีชีวิตที่ต้องอยู่ภายใต้อำนาจของธรรมชาติที่แปรปรวน ทั้งสงบและเกรี้ยวกราด หล่อหลอมบุคลิกเฉพาะทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่นขึ้นมา

หนังสือ “คัทซึชิคะ โฮะคุไซ” ของ ชัยยศ อิษฏ์วรพันธุ์ เรียบเรียงข้อมูลสำคัญของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ชาวญี่ปุ่นผู้นี้ไว้อย่างกระชับเข้าใจง่าย และจับสาระสำคัญได้อย่างครบถ้วน เช่นเดียวกับผลงานก่อนหน้านี้ของเขา อย่าง “รู้สึกและนึกคิด : เรขาคณิตของ ทาดาโอะ อันโด” ด้วยความเป็นนักวิชาการด้านสถาปัตยกรรม ทำให้เขามองไปที่โครงสร้างในวิธีคิดและการทำงานของศิลปิน และขยายออกไปยังโครงสร้างของสังคมที่รองรับ

โฮะคุไซเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จในยุคสมัยของตัวเอง และส่งอิทธิพลเนื่องหนุนมาถึงปัจจุบันในหลายแนวทาง อาจเป็นเพราะเขามีช่วงเวลาทำงานยาวนานกว่า 70 ปี นับแต่อายุ 19 จนถึง 89 ปี เขาสร้างสรรค์ผลงานชั้นเลิศไว้เป็นจำนวนมาก และเป็นผู้ที่ทำให้ภาพพิมพ์แกะไม้แบบอุคิโยะเอะขึ้นสู่จุดสูงสุดในหลายแนวแบบ และหากภาพพิมพ์แกะไม้ของญี่ปุ่นให้อิทธิพลบางส่วนต่อการพัฒนาศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์ในยุโรป จนเป็นต้นกำเนิดของศิลปะสมัยใหม่ในเวลาต่อมา ผลงานของโฮะคุไซย่อมเป็นต้นแบบหนึ่งที่ทรงพลัง

นอกจากนี้แม้แต่ภาพสเกตซ์จำนวนมากของเขา ซึ่งวาดภาพคนและสิ่งต่างๆ ด้วยลายเส้นที่แสดงคาแร็กเตอร์หรือลักษณะเฉพาะอย่างเรียบง่ายเด่นชัด ยังเป็นต้นกำเนิดส่วนหนึ่งของ “มังงะ” หรือการ์ตูนญี่ปุ่นด้วย

ปรัชญาการทำงานของโฮะคุไซแยกไม่ออกจากมโนทัศน์ในจิตใจของคนในสมัยเอโดะ ซึ่งญี่ปุ่นปกครองด้วยรัฐบาลโชกุน แยกศูนย์กลางการปกครองจากเกียวโตมาอยู่ที่เอโดะหรือ “โตเกียว” ในสมัยหลัง ด้วยความทะเยอทะยานแข่งขันแย่งชิงอำนาจและความมั่งคั่งกันในหมู่ผู้ปกครองระดับต่างๆ เร่งเร้าให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในหลายด้าน เอโดะจึงกลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมด้วย

คนเอโดะให้ความสำคัญกับชีวิตในขณะปัจจุบัน เพราะฉะนั้นจึงมุ่งแสวงหาความสุขเฉพาะหน้า ความหรูหราและความสนุกสนาน แหล่งบันเทิงเริงรมย์ต่างๆ แพร่หลาย วัฒนธรรมและศิลปะก็รุ่งเรือง ความนิยมในหนังสือและการพิมพ์ทำให้กิจการสำนักพิมพ์เป็นแหล่งรองรับพลังสร้างสรรค์ของศิลปินและกวีที่สำคัญ

โฮะคุไซเกิดเป็นชาวเอโดะโดยแท้ เขาเคยทำงานเป็นเด็กฝึกงานในร้านเช่าหนังสือ และเป็นผู้ช่วยช่างแกะแม่พิมพ์ไม้ เขามีโอกาสได้เป็นลูกศิษย์ของศิลปินวาดภาพและภาพพิมพ์แกะไม้คนสำคัญ จนกระทั่งได้มีโอกาสสำแดงฝีมือของตัวเองเมื่อมีอายุได้ 19 ปี

แนวแบบของภาพพิมพ์แกะไม้ที่เกิดขึ้นในสมัยเอโดะนี้เรียกกันว่า “อุคิโยะเอะ” ชัยยศให้ข้อมูลว่า “เอะ” แปลว่าภาพ ส่วน “อุคิโยะ” แปลว่าโลกที่เลื่อนลอย เป็นคำศัพท์ทางพุทธศาสนา อ้างอิงถึงแนวคิดว่าด้วยความไม่ยั่งยืนของชีวิต ภาพพิมพ์แบบอุคิโยะเอะต่างจากงานในขนบก่อนหน้า ตรงการนำเสนอภาพชีวิตในช่วงเวลาปัจจุบันอันเต็มไปด้วยการเคลื่อนไหวแปรเปลี่ยน มิใช่นิ่งสถิตเป็นนิรันดร์เหมือนโลกในอุดมคติ เนื้อหาในภาพพิมพ์อุคิโยะเอะจึงว่าด้วยชีวิตของคนสามัญ ภาพหญิงสาว ตัวละครคะบุคิ หญิงบริการย่านบันเทิง ภาพทิวทัศน์เมือง ภาพทิวทัศน์ธรรมชาติ ภาพดอกไม้และสัตว์ต่างๆ ตลอดจนภาพอีโรติก หรือหากจะเป็นภาพจากตำนานก็ต้องตอบรับกับค่านิยมในสมัยนั้น

เรียกได้ว่าเป็นการสำแดงออกของการเฉลิมฉลองชีวิต เนื่องจากผู้รองรับผลงานเหล่านี้คือตลาด มิใช่การอุปถัมภ์จากขุนนางพ่อค้าเพียงถ่ายเดียว เพราะฉะนั้นศิลปินจึงมุ่งสนองความต้องการของมวลชน การพัฒนาแนวแบบก็มักจะเป็นไปตามความนิยมของตลาด

เมื่อไม่ต้องต่อยอดจากแบบอย่างตามขนบเท่านั้น ความเป็นจริงรายรอบตัวก็กลายเป็นแหล่งให้แรงบันดาลใจอันไม่รู้จบแก่โฮะคุไซ อย่างที่เขาเล่าว่า เขาชอบขีดเขียนภาพตามที่เห็นในชีวิตจริงมาตั้งแต่เด็ก และเพราะเขียนมาก เขาจึงมีสายตาอันแหลมคมในการจับท่วงท่าและมุมมองอันแปลกใหม่น่าประทับใจ มิใช่การถ่ายทอดอย่างเหมือนจริงตามที่ตาเห็น แต่ตัดทอนและแต่งเติมเพื่อแสดงความงามอย่างที่ใจเห็น เช่น ภาพใบหน้าสาวงามอาจจะมีหัวโตและมือเล็กกว่าสัดส่วนความเป็นจริง เพราะต้องการขับแน้นลีลาในชั่วขณะที่ศิลปินประทับใจมากกว่า

หนังสือร้อยเรียงประวัติการทำงานและตัวอย่างผลงานของโฮะคุไซด้วยการแบ่งออกเป็น 6 ยุค ตามชื่อหรือนามปากกาที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลา ชัยยศได้ให้ข้อมูลของการทำงานในแต่ละช่วงไว้พอสังเขป พร้อมกับยกบริบทแวดล้อมมาประกอบพอให้เข้าใจพื้นหลัง เพียงเท่านี้ก็เห็นความน่าทึ่งในพลังการทำงานของโฮะคุไซ สมกับที่เขาตั้งฉายาให้ตัวเองว่า “คนแก่บ้าวาดภาพ”

แต่ถึงแม้จะสร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่ไว้มากมาย เขาก็ยังไม่รู้สึกว่าเพียงพอ กระทั่งเข้าสู่วัยชราก็ยังมีความกระหายในการสร้างสรรค์เปี่ยมล้น

“เมื่ออายุได้เจ็ดสิบ ข้าพเจ้าเริ่มจับโครงสร้างของนกและสัตว์ป่า แมลงและปลา และวิถีที่ต้นไม้งอกงาม ทำต่อไปข้าพเจ้าต้องเข้าใจมันมากขึ้นแน่” (หน้า 163)

จะเห็นว่าศิลปินอย่างโฮะคุไซทำงานตลอดชีวิตก็ไม่หมด ไหนจะลูกศิษย์และคนที่พัฒนาแนวทางต่อจากเขาอีกเล่า นั่นแสดงว่าความงามของชีวิตมีแง่มุมให้ค้นหาไม่รู้จบ ขึ้นอยู่กับทัศนวิสัยของผู้แลมอง.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]

วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2552

หนังไทยในความหมายทางวัฒนธรรม

หลอน รัก สับสน ในหนังไทย : ภาพยนตร์ไทยในรอบสามทศวรรษ (พ.ศ. 2520-2547) / กำจร หลุยยะพงศ์ และ สมสุข หินวิมาน / สำนักพิมพ์ศยาม, พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม 2552

หลอน รัก สับสน ในหนังไทย : ภาพยนตร์ไทยในรอบสามทศวรรษ (พ.ศ. 2520-2547) / กำจร หลุยยะพงศ์ และ สมสุข หินวิมาน

งานวิจัยเกี่ยวกับวัฒนธรรมร่วมสมัยโดยเฉพาะในสายบันเทิงที่อยู่ในกระแสนิยมของสังคมมีไม่มากนัก ทั้งที่เป็นอุตสาหกรรมสำคัญสาขาหนึ่งในปัจจุบัน จะมีบ้างก็มักจะเป็นการศึกษาย้อนหลังในเชิงประวัติความเป็นมา เมื่อไม่มีการศึกษาอย่างเพียงพอก็จะขาดองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ การพัฒนาเนื้องานในสายวิชาชีพนั้นๆ ก็จะไม่มีพื้นฐานที่กว้างขวางหยั่งลึกรองรับ ต้องใช้วิธีคาดเดา ลอกเลียน หรือเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่อยู่เสมอ

หนังสือวิชาการชื่อยาวๆ “หลอน รัก สับสน ในหนังไทย : ภาพยนตร์ไทยในรอบสามทศวรรษ (พ.ศ. 2520-2547) กรณีศึกษาตระกูลหนังผี หนังรัก และหนังยุคหลังสมัยใหม่” ของ กำจร หลุยยะพงศ์ และ สมสุข หินวิมาน เป็นผลผลิตจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นการศึกษาภาพยนตร์ แต่ก็ต้องไปอิงอยู่กับโครงการวิจัยเกี่ยวกับวรรณกรรม เพราะในที่นี้หนังก็เป็นเรื่องเล่าประเภทหนึ่ง

ทางผู้วิจัยใช้วิธีการศึกษาในสาย “วัฒนธรรมศึกษา” (Cultural Studies) ซึ่งสนใจมิติในเชิงความหมายที่ประกอบสร้างขึ้นมาในสื่อนั้นๆ จะต่างจากการศึกษาในเชิงคุณค่าทางสุนทรียะหรือคุณค่าทางสังคม ซึ่งมักจะมุ่งเน้นไปที่หนังที่มีความดีเด่นในด้านศิลปะภาพยนตร์ หรือมีเนื้อหาสะท้อนสภาพสังคม ขณะที่หนังซึ่งให้ความบันเทิงและอยู่ในความนิยมของคนส่วนใหญ่มักจะถูกมองข้าม และไม่ได้รับการหยิบยกขึ้นมาเป็นกรณีศึกษา แต่การวิจัยในสายนี้จะสนใจโครงสร้างความคิดที่แฝงอยู่ในหนังทุกประเภท เพราะแต่ละโครงสร้างล้วนสะท้อนความเป็นจริงในสังคมเช่นกัน

งานวิจัยนี้จึงเลือกศึกษาหนังใน 3 ตระกูลที่แตกต่างกัน คือ หนังผี หนังรัก และหนังแนว เพื่อแสดงให้เห็นโดรงสร้างความหมายที่ประกอบสร้างขึ้นมาในหนังแต่ละประเภท อันสะท้อนความเป็นไปของสังคมอีกชั้นหนึ่ง “หนังแนว” หรือ “หนังทางเลือก” หรือ “หนังยุคหลังสมัยใหม่” อาจเป็นที่สนใจของนักวิจารณ์ นักวิชาการ ตลอดจนได้รางวัลในระดับโลกบ้าง เพราะยังถือความก้าวหน้าในศิลปะภาพยนตร์เป็นสำคัญ แต่หนังผีและหนังรักอาจจะมีการประเมินค่าน้อย และเห็นเป็นแค่ความบันเทิงในเชิงพาณิชย์ศิลป์เท่านั้น แต่การวิจัยในแนวทางนี้กลับมองเห็นคุณค่าของความหมายทางวัฒนธรรม โดยเบื้องต้นเห็นว่า

“หนังผีเป็นตัวแทนของอดีต หนังรักเป็นตัวแทนของวิถีชีวิตปัจจุบัน และหนังยุคหลังสมัยใหม่เป็นตัวแทนของยุคหลังสมัยใหม่”

หนังที่ผู้วิจัยเลือกมาอยู่ใน 3 ทศวรรษ คือระหว่างทศวรรษ 2520-40 และยังสะท้อนถ่ายให้เห็นสภาพแวดล้อมของสังคมไทยในแต่ละช่วงเวลาด้วย ซึ่งหนังก็พัฒนาไปอย่างสอดคล้องกับสังคม ทั้งเฟื่องฟูและฟุบแฟบตามสภาพเศรษฐกิจ และแปรเปลี่ยนตามลักษณะการบริโภคสื่อ เนื้อหาจะออกไปทางฟุ้งฝันหลีกหนีความจริง หรือสะท้อนปัญหา ล้วนเกี่ยวเนื่องกับการเมืองและความขัดแย้งในสังคม

ทางผู้วิจัยชี้แจงว่า การศึกษาตามตระกูลของหนัง (genre) น่าจะเหมาะกับหนังไทย เพราะหนังไทยมีเป้าหมายทางการตลาดมากกว่าการแสดงอัตลักษณ์เฉพาะตัวของผู้สร้างงาน เพราะฉะนั้นแนวทางการศึกษาผลงานโดยรวมของผู้สร้างงาน (Auteur theory) จึงอาจจะไม่เพียงพอ นอกจากนี้ก็ยังทำให้มองข้ามความสำคัญของผู้ชมและอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั้งระบบด้วย ซึ่งมีส่วนไม่น้อยในการกำหนดทิศทางของหนัง

อย่างเช่นลักษณะของหนังไทยในยุคแรก ยังมีร่องรอยของมหรสพการแสดงที่คนไทยคุ้นเคยอยู่มาก ความไม่สมจริงที่ปรากฏเป็นเพราะคนไทยแต่เก่าก่อนแยกโลกของการแสดงออกจากโลกของความเป็นจริง พระเอกและนางเอกจึงต้องดูดีโดดเด่นอยู่เสมอ เหมือนโขนละครหรือลิเก เพราะที่เห็นนั้นเป็นภาพแทนของความดีงามผ่องพิสุทธิ์ที่อยู่ภายในตน ต่อเมื่อสังคมเริ่มก้าวสู่ความเป็นสมัยใหม่ที่ต้องการเหตุผลเป็นบรรทัดฐาน หนังไทยก็ต้องมีความสมจริงมากขึ้น ตามค่านิยมความเชื่อที่เปลี่ยนไป

สายตาดังกล่าวเมื่อมามองหนังผีไทยก็จะสังเกตเห็นคุณค่าที่ไม่มีในที่อื่นว่า “เมื่อเปรียบเทียบกับ ‘หนังผีเทศ’ ที่มักเน้นไปที่ความสยองขวัญและมีรูปลักษณ์ที่จำกัดไม่กี่ประเภท แต่ ‘หนังผีไทย’ กลับเป็นศิลปะที่ได้รับการสร้างขึ้นจากคลังของทุนวัฒนธรรมความเชื่อที่ตกผลึกผ่านกาลเวลามาช้านาน” (หน้า 57)

แต่ความนิยมของหนังผีในสังคมสมัยใหม่ของไทยก็บ่งบอกถึงสภาพความเป็นไปบางด้านเช่นกัน

“ความเจริญงอกงามของผีตั้งแต่ในทศวรรษที่ 2530 อาจแสดงให้เห็นถึงปรากฏการณ์การที่สังคมไทยกำลังเดินทางไปสู่สังคมแบบทันสมัยก้าวหน้า แต่เต็มไปด้วยความไม่เชื่อมั่น ไม่มั่นใจ ไม่มั่นคง” (หน้า 114)

เช่นเดียวกับหนังรักที่สะท้อนความรู้สึกของผู้คนในสังคมทุนนิยม ขณะที่ระบบเศรษฐกิจทำให้มนุษย์กลายเป็นเพียงเครื่องจักรที่แปลกแยกกับตัวเองและคนอื่น ความรู้สึกถวิลหาความรักอันเป็นตัวแทนของความสุขนิรันดรกลายเป็นสินค้าขายดีในสื่อแทบทุกประเภท ความรักที่ปรากฏในภาพยนตร์จึงเป็นทั้งการหลีกหนีและการขบถต่อชีวิตประจำวันอันจำเจ

ทางผู้วิจัยแยกแยะความรักในหนังแต่ละช่วงเวลาไว้ว่า “ยุคแรก หนังรักกับครอบครัว ยุคที่สอง หนังรักในสังคมทันสมัย และยุคที่สาม หนังรักกับการโหยหาอดีตในภาวะหลังเศรษฐกิจล่มสลาย” (หน้า 142)

พอเข้าสู่ทศวรรษ 2540 หลังการพลิกกลับของภาวะ “หนังไทยตายแล้ว” อันเป็นผลจากการเสื่อมถอยของอุตสาหกรรมในระบบเก่า และการปรับเปลี่ยนเพื่อแสวงหาช่องทางตลาด ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคือมีคนทำหนังคลื่นลูกใหม่มาถึงพร้อมกับความแตกต่างหลากหลาย แปลกประหลาดซับซ้อนไปจนถึงสับสนวนเวียน เช่น หนังของ นนทรีย์ นิมิบุตร, เป็นเอก รัตนเรือง, วิสิษฐ์ ศาสนเที่ยง, อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ฯลฯ

จากโครงเรื่องและมิติเวลาที่ซับซ้อนสับสนในหนัง ทางผู้วิจัยวิเคราะห์ว่า เป็นเพราะวิกฤตในสังคมยุคหลังสมัยใหม่สร้างปัญหาต่อภาวะจิตใจของผู้คนเป็นอันมาก และการเยียวยาเบื้องต้นก็คือการยอกย้อนต่อสิ่งที่กดทับตัวเอง เพื่อฟื้นฟูจิตวิญญาณที่หายไปกลับคืนมา เพราะฉะนั้นหนังแนวจึงพยายามปฏิเสธกรอบเกณฑ์แต่เดิม แล้วพลิกแพลงด้วยส่วนผสมที่แปลกประหลาดหลากหลาย เพื่อควานหาอรรถรสใหม่อยู่เสมอ

แต่ผู้วิจัยก็ยังเห็นว่า “หนังเกือบทุกเรื่องนำเสนอให้เห็นมิติของปัจเจกบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมุ่งสู่ปัญหาภายในจิตใจของตัวละคร” (หน้า 238)

ท้ายแล้วหนังทั้ง 3 ตระกูลอาจไม่แยกขาดออกจากกัน หรือซ้อนเหลื่อมกันไม่น้อย เพราะผู้วิจัยค้นพบว่า หนังในแต่ละตระกูลมักจะเชื่อมประสานหรือผสมปนเปเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ยังมีการสืบทอดต่อเนื่อง (convention) และการแตกออกในลักษณะนวัตกรรม (invention) ควบคู่กัน อันบ่งบอกถึงความไม่หยุดนิ่งตายตัว และแน่นอนว่าความหมายก็จะหลากเลื่อนไม่แน่นอนด้วย

หากการไม่หยุดนิ่งคือนิยามของชีวิต หนังไทยก็มีชีวิตชีวาในฐานะภาพมายาแทนความฝันของผู้คนเสมอมา.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]

วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ทำเงินจากปัญญา

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ : เขามั่งคั่งจากความคิดกันอย่างไร (The Creative Economy : How People Make Money from Ideas) / จอห์น ฮาวกินส์ (John Howkins) – เขียน / คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์ – แปล / ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC), พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2552

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ : เขามั่งคั่งจากความคิดกันอย่างไร (The Creative Economy : How People Make Money from Ideas) / จอห์น ฮาวกินส์ (John Howkins) – เขียน / คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์ – แปล

ระบบเศรษฐกิจแบบต่างๆ เกิดขึ้นมาเพื่อจัดสรรทรัพยากรและความสัมพันธ์ทางการผลิตให้สนองต่อความต้องการของคนในสังคมได้อย่างลงตัว เมื่อสังคมมีความเปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขปัจจัยนานาประการอยู่ตลอดเวลา ระบบเศรษฐกิจก็ต้องมีการพัฒนาปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ จนเรียกได้ว่าไม่มีรูปแบบใดที่สมบูรณ์

ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมพัฒนาและคลี่คลายมาโดยตลอด จนนำความเจริญมั่งคั่งมาสู่มนุษย์ในทุกๆ ด้านของชีวิต ด้วยหลักการที่ยอมรับในธรรมชาติความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ขณะที่ระบบเศรษฐกิจแบบอื่นซึ่งปฏิเสธความต้องการเช่นนั้นมักจะขาดแรงจูงใจในการสร้างสรรค์ความก้าวหน้าให้ตนเอง

แต่ทุนนิยมก็มีข้อบกพร่องในตัวมันเองอย่างมาก โดยเฉพาะการควบคุมความต้องการที่ไม่สิ้นสุด ความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากร และความซับซ้อนของระบบที่ซุกซ่อนสารพัดปัญหาไว้ภายใต้กติกาที่ทุกคนยอมรับ จนทุนนิยมกลายเป็นภัยคุกคามความอยู่รอดของมนุษยชาติเสียเอง เมื่อมันเป็นเสมือนเครื่องจักรที่เขมือบกลืนทุกอย่างโดยไร้การควบคุม จนโลกเสียสมดุลทั้งสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและสังคม

การปรับเปลี่ยนในระดับโครงสร้างก็ทำได้ลำบาก เพราะยากจะอธิบายให้คนทั่วไปเข้าใจและมองเห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องไกลตัว คนที่มีโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรจึงไม่ค่อยตระหนักถึงปัญหา และหลายเรื่องก็ต้องรอให้ปัญหาต่างๆ สะสมเงื่อนไขจนกลายเป็นวิกฤตที่กระทบถึงกันทั้งหมดเสียก่อน

กระนั้นทุนนิยมก็ยังปรับตัวอยู่เสมอ แม้จะเป็นการปรับตัวเพื่อการทำมาหากินก็ตาม แต่บางอย่างก็เป็นแนวโน้มที่ดีมากกว่าเสีย และอาจจะเป็นช่องทางในการใส่เนื้อหาใหม่ๆ ลงไปได้อย่างคาดไม่ถึง

หนังสือ “เศรษฐกิจสร้างสรรค์ : เขามั่งคั่งจากความคิดกันอย่างไร” (The Creative Economy : How People Make Money from Ideas) ของ จอห์น ฮาวกินส์ (John Howkins) เป็นกรณีศึกษาของการปรับเปลี่ยนช่องทางทำมาหากินจากเศรษฐกิจอุตสาหกรรมมาเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จากตัวอย่างในหลายๆ ประเทศ ซึ่งบางแห่งถึงกับยกเป็นนโยบายหลักของยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศด้วยซ้ำ

เบื้องต้นย่อมมาจากความอิ่มตัวของการสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของคนในสังคมนั้น ตามธรรมดาของคนที่พึงพอใจในความต้องการทางกายภาพแล้ว ย่อมต้องการความพึงพอใจในระดับอารมณ์และจิตวิญญาณ นอกเหนือจากนั้นก็เป็นหมากบังคับของแนวโน้มทางเศรษฐกิจ เนื่องจากตัวแบบทางธุรกิจแบบเดิมเริ่มเสื่อมถอย ทรัพยากรธรรมชาติก็ร่อยหลอจนถึงขั้นต้องฟื้นฟูกันแล้ว เพราะฉะนั้นจึงต้องมองหาเศรษฐกิจใหม่มาทดแทน

ประเทศมหาอำนาจค้นพบว่าสิ่งที่เป็นนามธรรมอย่างทรัพย์สินทางปัญญาก็มีมูลค่ามหาศาลไม่แพ้สินค้าที่เป็นวัตถุจับต้องได้เหมือนกัน หรือเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารก็เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ผลิตสินค้าหรือบริการที่แปลกใหม่เสนอแก่ตลาด อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจสร้างสรรค์นั้นต้องถือว่ายังเยาว์อยู่มาก อย่างน้อยที่ปรากฏเป็นนโยบายก็เพียง 10 กว่าปีเท่านั้น ยังต้องเฝ้าสังเกตทั้งโอกาสและปัญหาในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างความเปลี่ยนแปลง

จอห์น ฮาวกินส์ เป็นผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ระดับโลกในฐานะที่ปรึกษา เขาจึงมีประสบการณ์ตรงเป็นข้อมูลพื้นฐานของการวิเคราะห์ อย่างน้อยเขาก็มองเห็นในระดับส่วนตัวว่ามันเป็นธุรกิจที่สนุกและทำเงิน และคงไม่แปลกที่เขาจะเริ่มต้นบทแรกๆ ของหนังสือด้วยแง่มุมทางกฎหมายและการนิยามอันชวนปวดหัว เรื่องยุ่งๆ ของทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นนามธรรม ไม่ใช่ของที่จับต้องได้เหมือนทรัพย์สินอย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็น “ลิขสิทธิ์” (copyright) “สิทธิบัตร” (patent) “เครื่องหมายการค้า” (trademark) หรือ “แบบผลิตภัณฑ์” (design) ล้วนต้องกำหนดขอบเขตความหมายให้ดีว่าครอบคลุมแค่ไหน ขณะที่ธรรมชาติของการสร้างสรรค์หลายๆ อย่างก็ไม่ค่อยอยู่ในกรอบที่แน่นอน

เพราะหากระบบทุนนิยมพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้ด้วยกฎหมายรับรองทรัพย์สินส่วนบุคคล ทำให้เกิดการสะสมทุนและการแข่งขันกัน การรับรองและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในทางกฎหมายก็จะทำให้เกิดแรงจูงใจในการสร้างสรรค์มากขึ้น ดังประเทศพัฒนาแล้วจะเกิดสินค้าที่เป็นนวัตกรรมใหม่จำนวนมาก เพราะคนที่ทำงานสร้างสรรค์ได้รับการคุ้มครองในสิทธิเหนือผลงานของตน และได้รับผลประโยชน์เต็มความสามารถ ขณะที่สังคมซึ่งขาดนวัตกรรมมักจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับคุณค่าทางปัญญาเท่าใดนัก

ส่วนที่เหลือของหนังสือก็จะว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างการสร้างสรรค์กับเศรษฐศาสตร์ นับตั้งแต่การควานหาว่าอะไรคือธรรมชาติของการสร้างสรรค์ อะไรคือคุณลักษณะของผู้สร้างสรรค์ และกระบวนการของการสร้างสรรค์เป็นอย่างไรบ้าง

เขาสรุปคุณลักษณะของผู้สร้างสรรค์ไว้ 6 ประการ คือ (1) มีใจเปิดกว้าง (2) มีความคิดอิสระ (3) ไม่เกรงกลัวการเปลี่ยนแปลง (4) ท้าทายกับที่ว่างและต้องการเติมบางสิ่งบางอย่าง (5) มีอารมณ์ขัน และ (6) ชอบแข่งขันและมีจุดมุ่งหมาย

การสร้างสรรค์เปล่าๆ อาจไม่ก่อมูลค่าใดเลย เศรษฐกิจสร้างสรรค์จะสมบูรณ์ต้องทำเงินได้ด้วย ดังที่ จอห์น ฮาวกินส์ เขียนเป็นสูตรไว้ว่า CE = CPxT หรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CE) มีค่าเท่ากับมูลค่าของผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ (CP) คูณด้วยจำนวนการซื้อขาย (T)

เขาให้ข้อมูลคร่าวๆ เกี่ยวกับทิศทางในระดับโลกของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่สำคัญ 15 ประเภท คือ การโฆษณา สถาปัตยกรรม ศิลปะ หัตถกรรม งานออกแบบ แฟชั่น ภาพยนตร์ ดนตรี ศิลปะการแสดง การพิมพ์ การวิจัยและพัฒนา ซอฟต์แวร์ ของเล่นและเกม โทรทัศน์และวิทยุ และวิดีโอเกม โดยชี้ให้เห็นถึงความถดถอยและการเติบโต อันขึ้นอยู่กับตัวแบบทางธุรกิจแต่ละประเภทว่าจะสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ได้ดีเพียงใด ความสำเร็จย่อมอยู่ที่การสร้างเรื่องราวขึ้นมาใหม่ให้ตรงต่อความต้องการในสังคม

หรือตามแนวโน้มดังที่ จอห์น เพอร์รี บาร์โลว์ แห่งวง Grateful Dead และผู้ก่อตั้งมูลนิธิ Electronic Frontier เห็นว่า “เศรษฐกิจในอนาคตจะอิงอยู่กับความสัมพันธ์มากกว่าการครอบครอง” หรือที่ เจเรมี ริฟกิน เห็นว่า “ความเป็นเจ้าของกำลังถูกแทนที่ด้วยการเข้าถึง คำถามสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าใครเป็นเจ้าของอะไร แต่อยู่ที่ใครเข้าถึงมัน ใครสามารถใช้มัน” (หน้า 55)

แต่ก็ไม่ง่ายเลย เพราะเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในปัจจุบันยังคงเติบโตอยู่ภายใต้โครงสร้างเดิมนั่นเอง และต้องใช้เวลาปรับเปลี่ยนอีกมาก อย่างน้อยช่วงแรกก็ต้องหลอกล่อด้วยภาษาผลประโยชน์ให้ตาโตกันเสียก่อน แต่หากคิดจะใส่เนื้อหาที่สร้างสรรค์ลงไปก็คงต้องมองให้ไกลกว่านั้น.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]

วันจันทร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2552

ระหว่าง “ตลาด” กับ “ศิลปะ”

หนังอาร์ตไม่ได้มาเพราะโชคช่วย / ธนา วงศ์ญาณณาเวช / Unfinished Project Publishing, พิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม 2551

หนังอาร์ตไม่ได้มาเพราะโชคช่วย / ธนา วงศ์ญาณณาเวช

หนังสือเล่มบางๆ นี้ตบตาคนอ่าน แอบแฝงมาอยู่ในชั้นหนังสือเกี่ยวกับหนัง ทำท่าเหมือนจะอธิบายความเป็นหนังศิลปะว่าไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่ประกอบขึ้นมาจากปัจจัยมากมาย ทว่าคนรักหนังอ่านแล้วอาจจะหงายหลังล้มตึง เพราะองค์ประกอบต่างๆ ที่หนังสือเล่มนี้ยกมานั้น เป็นไปเพื่อถอดรื้อมายาคติเกี่ยวกับความเป็นศิลปะของหนังต่างหาก

พูดง่ายๆ ว่าหนังไม่ได้เป็นศิลปะในตัวเอง แต่ความเป็นศิลปะของหนังประกอบสร้างขึ้นมาจากกรอบความคิดและสภาพแวดล้อมอย่างใดอย่างหนึ่ง

ความจริงแล้วหนังสือเล่มนี้เป็นงานวิชาการในสายสังคมศาสตร์ ศึกษาวัฒนธรรมเพื่ออธิบายวาทกรรมในการประกอบสร้างแนวคิดนั้นๆ ขึ้นมา เพียงแต่เขียนในรูปแบบที่ลำลองหน่อยเท่านั้น

ธนา วงศ์ญาณณาเวช เป็นนามแฝงของนักวิชาการที่มีชื่อเสียงระดับ “เจ้าพ่อโพสต์โมเดิร์น” คนหนึ่งของเมืองไทย ฉายานี้ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่มาจากความรู้ที่ล้วงลึกเข้าไปในรากเหง้าของวัฒนธรรมตะวันตกอันเป็นต้นกำเนิดของปรัชญาสมัยใหม่ทั้งหลาย จนเห็นที่มาของกระสวนความคิดซึ่งสัมพันธ์กับบริบททางประวัติศาสตร์ของชาวตะวันตกอย่างแยกไม่ออก ซึ่งหากจะเข้าใจให้ถ่องแท้ก็ต้องรู้ซึ้งถึงที่มานั้นด้วย

แนวคิดแบบหลังสมัยใหม่ หรือ Postmodernism ส่วนใหญ่จะเป็นการถอดรื้อปรัชญาสมัยใหม่ลงในหลายด้าน แต่จะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องเข้าใจความเป็นสมัยใหม่อย่างถ่องแท้เสียก่อน นักวิชาการผู้นี้เสนอผลงานศึกษาเรื่องยากๆ ยุ่งๆ เหล่านี้ออกมาอย่างจริงจังและต่อเนื่องกว่าใคร มิเพียงเท่านั้นลีลาของเขายังเป็นแบบโพสต์โมเดิร์นโดยเนื้อแท้ ขณะที่นักวิชาการท่านอื่นอาจจะพยายามเรียบเรียงเรื่องราวเกี่ยวกับ “หลังสมัยใหม่” ด้วยระเบียบวิธีที่ชัดเจนแบบ “สมัยใหม่” แต่ “ธนา” ยังคงทิ้งร่องรอยวกวนแตกกระจายไม่รู้จบในสัมพันธบทของความหมาย อันเป็นภาวะพื้นฐานอย่างหนึ่งของความเป็นหลังสมัยใหม่

ดังจะเห็นว่า ด้วยความที่เป็นคนรู้เยอะ การเล่าเรื่องของเขามักจะมีการอธิบายขยายความซ้อนการอธิบายขยายความต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ จนยากที่จะจับเค้าโครง หรืออาจจะไม่มีเค้าโครงเลย นอกจากรายละเอียดปลีกย่อยของประเด็นที่กำลังกล่าวถึง เพราะฉะนั้นหนึ่งประโยคของเขาอาจจะขยายยาวได้หลายหน้ากระดาษ นอกจากนี้ประเด็นที่เขาหยิบยกขึ้นมาบ่อยครั้งก็ออกไปทางแผลงๆ แต่ละลานตาไปด้วยความรู้สารพันอย่างคาดไม่ถึง

ด้วยหน้าที่การงานแล้ว “ธนา” เป็นอาจารย์ทางด้านรัฐศาสตร์ แต่เขาก็มีผลงานครอบคลุมหลายศาสตร์ โดยเฉพาะด้านประวัติศาสตร์ความคิดและวัฒนธรรมศึกษา ธนา วงศ์ญาณณาเวช เป็นนามที่เขาใช้เขียนเรื่องเกี่ยวกับหนัง ดนตรี หรือมหรสพอื่นๆ เป็นประจำ สวนใหญ่จะเป็นมหรสพชั้นสูงของตะวันตกที่ต้องใช้ความรอบรู้เป็นพิเศษ หรือแม้จะเขียนถึงหนังธรรมดา เขาก็จะตีความประเด็นที่สนใจเสียจนล้ำลึก

หนังสือ “หนังอาร์ตไม่ได้มาเพราะโชคช่วย” ไม่ได้เขียนถึงตัวหนังโดยตรง แต่เขียนถึงกระบวนการของการสร้างคุณค่าในเชิงศิลปะให้กับหนัง เพื่ออธิบายเชื่อมโยงถึงสภาพการณ์บางอย่างในสังคม กรณีศึกษาที่เขายกมาเป็นตุ๊กตาในครั้งนี้คือสถานะของภาพยนตร์ในสังคมอเมริกันและยุโรปในช่วงเวลาระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเริ่มวางรากฐานบางอย่างที่ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ธนาเริ่มด้วยการชี้ให้เห็นว่าเดิมทีภาพยนตร์ไม่ได้รับการยอมรับในฐานะ “ศิลปะ” เพราะเห็นว่าเป็นผลผลิตของ “ยนตร์” หรือ “เครื่องจักร” มิใช่เกิดจากฝีมือของมนุษย์ทั้งหมดเหมือนภาพวาด ดนตรี หรือศิลปะแขนงอื่นๆ

สำนึกถึงคุณค่าในเชิงศิลปะของชาวยุโรปเข้มข้นขึ้นเมื่อเครื่องจักรมีบทบาทในการผลิตแทนมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ ของที่ผลิตโดยฝีมือมนุษย์จึงถูกยกระดับให้มีความพิเศษกว่า เพราะผลิตได้น้อยกว่า และไม่ซ้ำกันเหมือนสินค้าอุตสาหกรรม แต่กระนั้นก็เป็นค่านิยมที่มีขอบเขตจำกัดเฉพาะกลุ่มชนชั้นนำในสังคมเท่านั้น ขณะที่ชาวบ้านทั่วไปใช้ข้าวของจากโรงงานอุตสาหกรรมในชีวิตประจำวันกันหมดแล้ว

สังคมอุตสาหกรรมยังนำมาซึ่งมวลชน (Mass) ซึ่งมีลักษณะเหมือนกัน และขาดลักษณะจำเพาะตนแบบปัจเจกชนที่มีวิจารณญาณของตัวเอง นั่นเองที่ปัญญาชนเห็นว่าเสียงข้างมากอาจทำลายอุดมคติของประชาธิปไตยลงได้ในวันหนึ่ง หากเป็นมวลชนที่มีแต่ปริมาณ แต่ขาดประสิทธิภาพในการใช้เหตุผล ดังเช่นกรณีของฮิตเลอร์และพรรคนาซีเยอรมันในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง

หรือตัวอย่างของรสนิยมมวลชน ซึ่งมักจะเป็นที่ทนไม่ได้ของปัญญาชน แม้พวกเขาจะอ้างว่ายืนเคียงประชาชนส่วนใหญ่เพียงใดก็ตาม หนังที่ปัญญาชนยกย่องว่าดีอาจไม่มีใครดูเลย ขณะที่หนังซึ่งคนส่วนใหญ่ชอบดูอาจเป็นไปในทางที่ปัญญาชนต้องส่ายหน้า

ธนาเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างสังคมยุโรปกับสังคมอเมริกันผ่านทางสภานะของภาพยนตร์ สังคมยุโรปยังมีสำนึกเรื่องชนชั้น แรกเริ่มก็มองว่าหนังเป็นความบันเทิงชั้นต่ำราคาถูก ไม่ได้มีความเป็นศิลปะ ต่อมาเมื่อต้องต่อสู้กับรสนิยมสาธารณ์ของหนังอเมริกัน ก็หันมายกย่องความเป็นศิลปะของหนังไว้เสียจนเลิศลอยห่างไกลจากตลาด ขณะที่สังคมอเมริกันเองก็มีแต่สำนึกเรื่องการค้าขาย เพราะฉะนั้นหนังฮอลลีวู้ดจึงไม่เคยสนใจว่ามันจะเป็นศิลปะหรือไม่เป็นศิลปะ นอกจากว่าจะขายได้มากหรือน้อยเท่านั้น

เช่นนั้นเองหนังฮอลลีวู้ดจึงแพร่หลายไปทั่วทุกมุมโลกในฐานะสินค้าเพื่อความบันเทิงที่เข้าถึงคนได้ทุกกลุ่ม ขณะที่หนังยุโรปต้องจำกัดตัวเองอยู่กับโรงหนังอาร์ตเฮ้าส์เล็กๆ ตามสถาบันที่มีคนดูอยู่ไม่กี่คน

สถานการณ์ในปัจจุบันอาจต่างไปจากเมื่อก่อนมาก เนื่องจากการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้งของเทคโนโลยีทำให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปอย่างคาดไม่ถึง หนังก็มีหลากหลายประเภทมากขึ้น จนไม่สามารถแบ่งแยกเป็นหนังตลาดกับหนังศิลปะได้อย่างชัดเจนอีกแล้ว

เช่นนั้นเองความขัดแย้งในสังคมที่เกิดจากโครงสร้างการผลิตและฐานคิดที่ต่างกันก็อาจละลายไปได้ด้วยความหลากหลาย การแบ่งแยกเป็น 2 ฝ่ายอาจเป็นแค่ภาพลวงตาจากความคุ้นเคยของวิธีคิด หนังอเมริกันไม่ได้มีแค่หนังตลาด หนังยุโรปก็ไม่ได้มีแค่หนังศิลปะ ตลาดหรือความเป็นศิลปะไม่ได้แบ่งออกจากกันอย่างเด็ดขาดด้วยมหาสมุทรแอตแลนติก แต่แบ่งแยกออกจากกันด้วยความคิด และแท้จริงแล้วสรรพสิ่งในโลกก็ยากที่จะแบ่งแยกหมวดหมู่ไปตามความคิดของมนุษย์

เขียนรูปด้วยสีเดียวยากที่จะทำให้สวย ความขัดแย้งระหว่างสี 2 สีก็อาจละลายหายไปได้ด้วยการระบายสีที่หลากหลายลงไปในภาพ.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]