คัทซึชิคะ โฮะคุไซ / ชัยยศ อิษฏ์วรพันธุ์ – เขียน / สารคดีภาพ, พิมพ์ครั้งที่ 1 ตุลาคม 2552
ภาพ “คลื่นใหญ่นอกคะนะงะวะ” ของ โฮะคุไซ (Hokusai, ปี ค.ศ. 1760-1849) เป็นหนึ่งในผลงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่และเป็นที่รู้จักแพร่หลายไปทั่วโลก จนกลายเป็นเสมือนภาพแทนของศิลปะและจิตวิญญาณญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในงานภาพพิมพ์แกะไม้ของญี่ปุ่นที่ขึ้นถึงจุดสูงสุดทางสุนทรียภาพ ทั้งความเป็นนายเหนือเทคนิค การแสดงออกของรูปทรงที่สมบูรณ์แบบ และเนื้อหาที่สะท้อนพลังของจิตใจในวัฒนธรรม รวมถึงสะท้อนสัจธรรมตามวิถีธรรมชาติอีกด้วย
ภาพนี้เป็นหนึ่งในภาพทิวทัศน์ชุดภูเขาฟูจิซึ่งโฮะคุไซทำออกมาทั้งหมด 46 ภาพ เป็นภาพภูเขาฟูจิในมุมมองที่แตกต่างกันจากทั่วเกาะญี่ปุ่น สะท้อนทั้งความงามของภูมิประเทศและวิถีชีวิตของผู้คนอันหลากหลาย ซึ่งนักประวัติศาสตร์ศิลป์ก็ได้ยกย่องให้เป็นหนึ่งในภาพทิวทัศน์ที่ยิ่งใหญ่ชุดหนึ่งของโลกเช่นกัน
รายละเอียดของภาพ “คลื่นใหญ่นอกคะนะงะวะ” บอกถึงปรัชญาในชีวิตและการทำงานของโฮะคุไซได้อย่างชัดแจ้ง ภาพคลื่นยักษ์อันทรงพลังและงามสง่า สำแดงลีลาการเคลื่อนไหวที่ทั้งงดงามและน่าเกรงขามไปพร้อมกัน ระหว่างริ้วคลื่นมีเรือชำแรกผ่านเข้ามาด้วยเรี่ยวแรงน้อยนิดของมนุษย์ที่พยายามร่วมแรงร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวกัน แม้จะเทียบไม่ได้เลยกับพละกำลังการเคลื่อนไหวของคลื่นยักษ์ แต่ก็รู้สึกได้ถึงจิตใจอันมุ่งมั่นที่จะฝ่าข้ามไปให้สำเร็จ โดยมีภูเขาฟูจิเป็นเสมือนองค์ประธานแห่งศรัทธาลอยอยู่ไกลออกไปในฉากหลัง
ภาพนี้ยังบ่งบอกถึงปรัชญาชีวิตและจิตวิญญาณของชาวญี่ปุ่นด้วย การมีชีวิตที่ต้องอยู่ภายใต้อำนาจของธรรมชาติที่แปรปรวน ทั้งสงบและเกรี้ยวกราด หล่อหลอมบุคลิกเฉพาะทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่นขึ้นมา
หนังสือ “คัทซึชิคะ โฮะคุไซ” ของ ชัยยศ อิษฏ์วรพันธุ์ เรียบเรียงข้อมูลสำคัญของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ชาวญี่ปุ่นผู้นี้ไว้อย่างกระชับเข้าใจง่าย และจับสาระสำคัญได้อย่างครบถ้วน เช่นเดียวกับผลงานก่อนหน้านี้ของเขา อย่าง “รู้สึกและนึกคิด : เรขาคณิตของ ทาดาโอะ อันโด” ด้วยความเป็นนักวิชาการด้านสถาปัตยกรรม ทำให้เขามองไปที่โครงสร้างในวิธีคิดและการทำงานของศิลปิน และขยายออกไปยังโครงสร้างของสังคมที่รองรับ
โฮะคุไซเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จในยุคสมัยของตัวเอง และส่งอิทธิพลเนื่องหนุนมาถึงปัจจุบันในหลายแนวทาง อาจเป็นเพราะเขามีช่วงเวลาทำงานยาวนานกว่า 70 ปี นับแต่อายุ 19 จนถึง 89 ปี เขาสร้างสรรค์ผลงานชั้นเลิศไว้เป็นจำนวนมาก และเป็นผู้ที่ทำให้ภาพพิมพ์แกะไม้แบบอุคิโยะเอะขึ้นสู่จุดสูงสุดในหลายแนวแบบ และหากภาพพิมพ์แกะไม้ของญี่ปุ่นให้อิทธิพลบางส่วนต่อการพัฒนาศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์ในยุโรป จนเป็นต้นกำเนิดของศิลปะสมัยใหม่ในเวลาต่อมา ผลงานของโฮะคุไซย่อมเป็นต้นแบบหนึ่งที่ทรงพลัง
นอกจากนี้แม้แต่ภาพสเกตซ์จำนวนมากของเขา ซึ่งวาดภาพคนและสิ่งต่างๆ ด้วยลายเส้นที่แสดงคาแร็กเตอร์หรือลักษณะเฉพาะอย่างเรียบง่ายเด่นชัด ยังเป็นต้นกำเนิดส่วนหนึ่งของ “มังงะ” หรือการ์ตูนญี่ปุ่นด้วย
ปรัชญาการทำงานของโฮะคุไซแยกไม่ออกจากมโนทัศน์ในจิตใจของคนในสมัยเอโดะ ซึ่งญี่ปุ่นปกครองด้วยรัฐบาลโชกุน แยกศูนย์กลางการปกครองจากเกียวโตมาอยู่ที่เอโดะหรือ “โตเกียว” ในสมัยหลัง ด้วยความทะเยอทะยานแข่งขันแย่งชิงอำนาจและความมั่งคั่งกันในหมู่ผู้ปกครองระดับต่างๆ เร่งเร้าให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในหลายด้าน เอโดะจึงกลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมด้วย
คนเอโดะให้ความสำคัญกับชีวิตในขณะปัจจุบัน เพราะฉะนั้นจึงมุ่งแสวงหาความสุขเฉพาะหน้า ความหรูหราและความสนุกสนาน แหล่งบันเทิงเริงรมย์ต่างๆ แพร่หลาย วัฒนธรรมและศิลปะก็รุ่งเรือง ความนิยมในหนังสือและการพิมพ์ทำให้กิจการสำนักพิมพ์เป็นแหล่งรองรับพลังสร้างสรรค์ของศิลปินและกวีที่สำคัญ
โฮะคุไซเกิดเป็นชาวเอโดะโดยแท้ เขาเคยทำงานเป็นเด็กฝึกงานในร้านเช่าหนังสือ และเป็นผู้ช่วยช่างแกะแม่พิมพ์ไม้ เขามีโอกาสได้เป็นลูกศิษย์ของศิลปินวาดภาพและภาพพิมพ์แกะไม้คนสำคัญ จนกระทั่งได้มีโอกาสสำแดงฝีมือของตัวเองเมื่อมีอายุได้ 19 ปี
แนวแบบของภาพพิมพ์แกะไม้ที่เกิดขึ้นในสมัยเอโดะนี้เรียกกันว่า “อุคิโยะเอะ” ชัยยศให้ข้อมูลว่า “เอะ” แปลว่าภาพ ส่วน “อุคิโยะ” แปลว่าโลกที่เลื่อนลอย เป็นคำศัพท์ทางพุทธศาสนา อ้างอิงถึงแนวคิดว่าด้วยความไม่ยั่งยืนของชีวิต ภาพพิมพ์แบบอุคิโยะเอะต่างจากงานในขนบก่อนหน้า ตรงการนำเสนอภาพชีวิตในช่วงเวลาปัจจุบันอันเต็มไปด้วยการเคลื่อนไหวแปรเปลี่ยน มิใช่นิ่งสถิตเป็นนิรันดร์เหมือนโลกในอุดมคติ เนื้อหาในภาพพิมพ์อุคิโยะเอะจึงว่าด้วยชีวิตของคนสามัญ ภาพหญิงสาว ตัวละครคะบุคิ หญิงบริการย่านบันเทิง ภาพทิวทัศน์เมือง ภาพทิวทัศน์ธรรมชาติ ภาพดอกไม้และสัตว์ต่างๆ ตลอดจนภาพอีโรติก หรือหากจะเป็นภาพจากตำนานก็ต้องตอบรับกับค่านิยมในสมัยนั้น
เรียกได้ว่าเป็นการสำแดงออกของการเฉลิมฉลองชีวิต เนื่องจากผู้รองรับผลงานเหล่านี้คือตลาด มิใช่การอุปถัมภ์จากขุนนางพ่อค้าเพียงถ่ายเดียว เพราะฉะนั้นศิลปินจึงมุ่งสนองความต้องการของมวลชน การพัฒนาแนวแบบก็มักจะเป็นไปตามความนิยมของตลาด
เมื่อไม่ต้องต่อยอดจากแบบอย่างตามขนบเท่านั้น ความเป็นจริงรายรอบตัวก็กลายเป็นแหล่งให้แรงบันดาลใจอันไม่รู้จบแก่โฮะคุไซ อย่างที่เขาเล่าว่า เขาชอบขีดเขียนภาพตามที่เห็นในชีวิตจริงมาตั้งแต่เด็ก และเพราะเขียนมาก เขาจึงมีสายตาอันแหลมคมในการจับท่วงท่าและมุมมองอันแปลกใหม่น่าประทับใจ มิใช่การถ่ายทอดอย่างเหมือนจริงตามที่ตาเห็น แต่ตัดทอนและแต่งเติมเพื่อแสดงความงามอย่างที่ใจเห็น เช่น ภาพใบหน้าสาวงามอาจจะมีหัวโตและมือเล็กกว่าสัดส่วนความเป็นจริง เพราะต้องการขับแน้นลีลาในชั่วขณะที่ศิลปินประทับใจมากกว่า
หนังสือร้อยเรียงประวัติการทำงานและตัวอย่างผลงานของโฮะคุไซด้วยการแบ่งออกเป็น 6 ยุค ตามชื่อหรือนามปากกาที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลา ชัยยศได้ให้ข้อมูลของการทำงานในแต่ละช่วงไว้พอสังเขป พร้อมกับยกบริบทแวดล้อมมาประกอบพอให้เข้าใจพื้นหลัง เพียงเท่านี้ก็เห็นความน่าทึ่งในพลังการทำงานของโฮะคุไซ สมกับที่เขาตั้งฉายาให้ตัวเองว่า “คนแก่บ้าวาดภาพ”
แต่ถึงแม้จะสร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่ไว้มากมาย เขาก็ยังไม่รู้สึกว่าเพียงพอ กระทั่งเข้าสู่วัยชราก็ยังมีความกระหายในการสร้างสรรค์เปี่ยมล้น
“เมื่ออายุได้เจ็ดสิบ ข้าพเจ้าเริ่มจับโครงสร้างของนกและสัตว์ป่า แมลงและปลา และวิถีที่ต้นไม้งอกงาม ทำต่อไปข้าพเจ้าต้องเข้าใจมันมากขึ้นแน่” (หน้า 163)
จะเห็นว่าศิลปินอย่างโฮะคุไซทำงานตลอดชีวิตก็ไม่หมด ไหนจะลูกศิษย์และคนที่พัฒนาแนวทางต่อจากเขาอีกเล่า นั่นแสดงว่าความงามของชีวิตมีแง่มุมให้ค้นหาไม่รู้จบ ขึ้นอยู่กับทัศนวิสัยของผู้แลมอง.
[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น