วันพุธที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2552

หลังพิงทางวัฒนธรรม

หนังกับหนังสือ / วีระยศ สำราญสุขทิวาเวทย์ / librarybooks, พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2552

หนังกับหนังสือ / วีระยศ สำราญสุขทิวาเวทย์

สมองของมนุษย์ย่อมมีขีดจำกัดในการจดจำข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลที่มีรายละเอียดซับซ้อนและไม่ได้ใช้เป็นประจำ หนังสือจึงมีประโยชน์ในการบันทึกข้อมูลเพื่อเก็บรักษาหรือเผยแพร่ ทำให้เกิดการพัฒนาความรู้และวิทยาการต่างๆ จนก้าวหน้าเรื่อยมา

แม้ปัจจุบันจะมีการเก็บบันทึกข้อมูลในรูปแบบของสื่อดิจิตอล แต่หนังสือก็ยังเป็นสื่อที่มีความจำเป็น เพราะใช้งานสะดวกและเชื่อถือได้มาก ความผิดเพี้ยนน้อย หนังสือจึงจะอยู่กับความใฝ่รู้ของมนุษย์ไปอีกนาน ตามบทบาทเฉพาะและลักษณะการใช้งานของมัน ขณะที่สื่ออื่นๆ ก็พัฒนาขึ้นมาตามความสะดวกในการทำหน้าที่ของตน

เช่นเดียวกับหนังสือ “หนังกับหนังสือ” ของ วีระยศ สำราญสุขทิวาเวทย์ ซึ่งรวบรวมข้อมูลความรู้เกี่ยวกับวรรณกรรมไทยที่เคยนำมาทำเป็นภาพยนตร์ สื่อ 2 แบบซึ่งมีจุดเน้นต่างกัน แต่ต่างเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน และสะท้อนถึงความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมหลายมิติ เห็นทั้งชีวิตคน สังคม และการเมืองในแต่ละยุคสมัย

เดิมทีงานเขียนชุดนี้เคยตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรมมาก่อน ช่วงระหว่างเดือนมกราคม ปี 2549 ถึงเดือนสิงหาคม ปี 2551 วีระยศเล่าถึงภาพยนตร์ที่มีที่มาจากวรรณกรรม พร้อมทั้งให้ข้อมูลเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ความเป็นมาของวรรณกรรมเรื่องนั้น ชีวิตของผู้ประพันธ์ คณะทำงานในการสร้างเป็นภาพยนตร์ ตลอดจนสภาพแวดล้อมของสังคมในช่วงเวลานั้น อันมีผลต่อการสร้างงานหรือความสำเร็จ

ทั้งหมดเล่าอย่างย่นย่อในแต่ละเรื่อง แต่ก็ให้ข้อมูลครบถ้วน พร้อมทั้งแสดงทรรศนะประกอบบ้าง มีใบปิดหนังไทยคลาสสิกที่กล่าวถึงครบทุกเรื่อง ช่วยเพิ่มคุณค่าให้หนังสืออีกไม่น้อย เพราะฉะนั้นจึงเหมาะที่จะเก็บไว้อ้างอิงเมื่อต้องการค้นคว้าเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างวรรณกรรมกับภาพยนตร์ไทยในอดีตที่ผ่านมา

หนังหรือหนังสือที่วีระยศเลือกมาเขียนถึงแต่ละเรื่อง ล้วนมีคุณภาพอยู่ในขั้นคลาสสิก นำกลับมาอ่านหรือชมได้อย่างมีอรรถรสเสมอ แม้จะผ่านกาลเวลามานานวันแล้ว

แล้วจะเห็นว่าวรรณกรรมกับภาพยนตร์ในบ้านเราผูกพันกันมาตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่องแรกที่คนไทยทำเองทั้งหมด คือ “โชคสองชั้น” ซึ่ง ‘แสงทอง’ นักประพันธ์ในยุคบุกเบิกเป็นผู้เขียนบท และจะเห็นบทบาทของภาพยนตร์ที่พยายามนำเสนอต่อสังคมนอกเหนือจากความบันเทิง อย่างหนังเรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” ซึ่ง ปรีดี พนมยงค์ เขียนเป็นนิยายขึ้นมา ก่อนที่จะถ่ายทำเป็นหนัง เพื่อแสดงเจตนารมณ์อันไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมสงคราม ขณะที่การเมืองระหว่างประเทศกำลังตึงเครียด และจะเคลื่อนเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง

ระยะแรกบุคลากรในวงการหนังหลายต่อหลายคนก็ถ่ายโอนมาจากคนทำหนังสือซึ่งเป็นสื่อที่มีมาก่อน วรรณกรรมกับภาพยนตร์จึงสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด กระนั้นก็มีหลายเรื่องที่หนังสือยังคงดีกว่าหนัง และหลายเรื่องที่หนังทำได้ดีกว่าหนังสือ ทั้งนี้เพราะเป็นสื่อคนละประเภทกันนั่นเอง และต้องใช้องค์ประกอบทางศิลปะหรือความเชี่ยวชาญที่ต่างกัน เรื่องที่ดีทั้งหนังและหนังสือ ส่วนใหญ่เป็นเพราะผู้สร้างภาพยนตร์เลือกงานประพันธ์ชั้นดีมาทำ และเข้าถึงในศิลปะภาพยนตร์ที่ตนทำด้วย

เช่น เรื่อง “แผลเก่า” ของ ไม้ เมืองเดิม และเรื่อง “เพื่อน-แพง” ของ ยาขอบ ซึ่ง เชิด ทรงศรี นำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ภายใต้ความงามของบรรยากาศความเป็นไทยในชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ซึ่งเขาก็ได้ดัดแปลงบทประพันธ์ให้เหมาะกับการนำเสนอเป็นภาพยนตร์ ขณะเดียวกันก็ช่วยขับใจความสำคัญของวรรณกรรมให้โดดเด่นขึ้นด้วย

ดังที่วีระยศวิเคราะห์ไว้ว่า “ระหว่างตัวหนังสือกับภาพยนตร์ เราจะเห็นได้ว่า แผลเก่า ของ ไม้ เมืองเดิม จะบรรยายภาพระยะใกล้ของตัวละคร ฉาก และเหตุการณ์ต่างๆ ตลอดเรื่อง แต่ แผลเก่า ของ เชิด ทรงศรี กลับบรรยายภาพ ตัวละคร การแสดงอารมณ์ การใช้เสียง รวมถึงการตัดต่อภาพให้ออกมาเป็นมุมกว้าง เพื่อให้เหมาะสมกับการเป็นหนังมหากาพย์แห่งความรักในระบบภาพยนตร์ 70 ม.ม. ตามความคิดของเขา”

“การแต่งเติมเรื่องราว แผลเก่า ของ เชิด ทรงศรี ก็เพื่อเติมความรู้สึกเบื้องลึกของตัวละครให้สมบูรณ์ (...) ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เชิดเติมแต่งเพื่อให้คนดูได้มองเห็น แผลแห่งความรัก แผลความหลัง และแผลแห่งความสะเทือนใจ เพราะว่านั่นคือรอยแผลแห่งความรักอันสมบูรณ์ของมนุษย์ที่ เชิด ทรงศรี ตบแต่งให้เป็นความยิ่งใหญ่ของ ไม้ เมืองเดิม” (หน้า 173)

เช่นเดียวกับเรื่อง “จับตาย” ของ มนัส จรรยงค์ ซึ่ง โสภณ เจนพานิช นำมาถ่ายทอดเป็นภาพเคลื่อนไหวได้อย่างลงตัว หรือเรื่อง “ลูกอีสาน” ของ คำพูน บุญทวี ก็ผ่านการถ่ายทอดของ วิจิตร คุณาวุฒิ ได้อย่างถึงแก่น และเรื่อง “ผีเสื้อและดอกไม้” ของ ‘นิพพาน’ เมื่อผ่านการกำกับฯ ของ ยุทธนา มุกดาสนิท ก็เป็นที่ประทับใจไม่แพ้หนังสือ

มิเพียงวรรณกรรมคุณภาพ วรรณกรรมเพื่อความบันเทิงที่ประสบความสำเร็จหลายเรื่อง เมื่อแปลงมาเป็นภาพยนตร์แล้ว ก็สร้างปรากฏการณ์ไม่น้อยหน้าไปกว่ากัน เช่น เรื่อง “อินทรีแดง” ของ เศก ดุสิต ซึ่งสร้างชื่อให้ มิตร ชัยบัญชา กลายเป็นพระเอกอมตะด้วยเรื่องชุดเดียวกันนี้หลายเรื่อง หรือเรื่อง “เล็บครุฑ” ของ ‘พนมเทียน’ ก็มีการนำมาดัดแปลงเป็นหนังหลายครั้งในยุคสมัยที่ต่างกัน และ “อกสามศอก” ของ อรวรรณ ก็ถือว่าเป็นต้นแบบของนิยายบู๊และหนังบู๊ไทยในหลายๆ อย่าง

ทางฝ่ายนิยายจากนักเขียนสตรีทั้งเรื่องแนวพาฝันและแนวชีวิตครอบครัวก็มีอยู่หลายเรื่องที่ถูกนำมาสร้างเป็นหนังซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่รู้เบื่อ อย่าง “บ้านทรายทอง” ของ ก.สุรางคนางค์ ซึ่งสร้างชื่อให้นางเอกที่มารับบทนำในทุกยุคทุกสมัย หรือ “สลักจิต” ของ บุษยมาส ก็เป็น 1 ใน 7 นิยายพาฝันที่ชาวบ้านรักและอยากให้สร้างซ้ำมากที่สุด

หนังสือยังเล่าถึงวรรณกรรมแนวสะท้อนสังคมและการเมืองหลายเรื่องที่กลายมาเป็นภาพยนตร์ แม้จะประสบความสำเร็จบ้างไม่ประสบความสำเร็จบ้าง แต่ก็กลายเป็นตำนานที่สร้างความเข้มข้นและความหลากหลายในเนื้อหาให้แก่หนังไทยที่ผ่านมา เช่น “ระย้า” ของ สด กูรมะโรหิต กำกับฯ โดย เพิ่มพล เชยอรุณ ”เรือมนุษย์” ของ กฤษณา อโศกสิน กำกับฯ โดย ดอกดิน กัญญามาลย์ “เขาชื่อกานต์” ของ สุวรรณี สุคนธา กำกับฯ โดย มจ.ชาตรีเฉลิม ยุคล และ “จนตรอก” ของ ชาติ กอบจิตติ เมื่อดัดแปลงเป็นหนังใช้ชื่อว่า “บ้าน”

เหล่านี้เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่เปิดให้ค้นคว้าต่อได้อีกมากสำหรับผู้ที่สนใจเป็นพิเศษ อย่างหนึ่งที่เห็นได้คือภาพรวมอันรุ่มรวยและหลากหลายของวรรณกรรมและภาพยนตร์ไทยในยุคสมัยที่ผ่านมา ซึ่งรอให้ผู้แลเห็นหยิบขึ้นมาพิจารณาและตีความเพื่อสร้างสรรค์ใหม่ต่อไปข้างหน้า มิจำกัดอยู่แค่วงการหนังสือหรือวงการหนัง แต่เป็นส่วนหนึ่งในพื้นฐานของวัฒนธรรมร่วมสมัยที่แวดล้อมหล่อหลอมเรามา.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น