[กาลิเลโอ คีนิ, “พราหมณ์ชาวสยาม” และ “ทหารมหาดเล็กหลวง” ประมาณปี 2454-2456, สีฝุ่นบนผ้าใบ 200x124 ซม.]
(เป็นภาพที่ศิลปินเขียนขึ้นมาเพื่อศึกษาเครื่องแต่งกายและท่วงท่าสำหรับการออกแบบงานจิตรกรรมเฟรสโกบนเพดานโดมพระที่นั่งอนันตสมาคม)
[กาลิเลโอ คีนิ, “คลองในเมืองบางกอก” ปี 2455, สีน้ำมันบนผ้าใบ]
(แสงและสีของโลกตะวันออกเป็นที่ประทับใจแก่จิตรกรและถ่ายทอดออกมาราวกับอยู่ในความฝัน)
[กาลิเลโอ คีนิ, “ฉลองตรุษจีนวันสุดท้ายที่บางกอก” ปี 2456, สีน้ำมันบนผ้าใบ 320x350 ซม.]
(วัฒนธรรมที่มีสีสันอันน่าตื่นตาตื่นใจและลี้ลับยังคงเป็นความรู้สึกแปลกหน้าสำหรับจิตรกร)
ระหว่างเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2454 ถึงเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ. 2456 เป็นช่วงเวลาที่ กาลิเลโอ คีนิ (Galileo Chini) ศิลปินหนุ่มชาวอิตาเลียนที่กำลังประสบความสำเร็จในระดับประเทศได้เดินทางมาเขียนภาพจิตรกรรมเฟรสโกบนเพดานโดมพระที่นั่งอนันตสมาคมในกรุงสยาม ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นถือเป็นรอยต่อที่มีนัยยะสำคัญหลายประการ
จากหลักฐานที่บ่งบอกถึงวันเวลาเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายที่คีนิบันทึกไว้ระหว่างการเดินทางและใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทย ภาพถ่ายและภาพร่างประกอบการออกแบบงานเฟรสโก งานจิตรกรรมที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นเป็นการส่วนตัวในบรรยากาศของบ้านเรา และผลงานที่เขาได้สร้างสรรค์ขึ้นในภายหลัง ซึ่งแสดงอิทธิพลของโลกตะวันออกอย่างเด่นชัด ล้วนมีความหมายน่าศึกษาในหลายด้าน ทั้งทางประวัติศาสตร์และศิลปะ
หลายปีมานี้มีการจัดแสดงนิทรรศการและการสัมมนาเกี่ยวกับคีนิหลายครั้ง อย่าง “นิทรรศการภาพถ่ายและบันทึกทางประวัติศาสตร์ของ กาลิเลโอ คีนิ” ที่หอศิลป์แห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2545 นิทรรศการ “กาลิเลโอ คีนิ กับสีสันแห่งตะวันออก” ที่หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อปี พ.ศ. 2547 และล่าสุดคือ “The Galileo Chini Exhibition @ Central Chidlom” หรือ “100 ปี มรดกศิลป์ กาลิเลโอ คีนิ จิตรกรสองแผ่นดิน ผู้รังสรรค์งานศิลป์ในพระที่นั่งอนันตสมาคม” ซึ่งจัดขึ้นที่ ดิ อีเวนท์ ฮอลล์ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลชิดลม ระหว่างวันที่ 6 มิถุนายน – 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 เนื่องในโอกาสเพื่อร่วมฉลอง 140 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตและการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมไทย-อิตาลี (พ.ศ. 2411-2551)
แต่ละครั้งจะมีการเสนอหลักฐานข้อมูลใหม่และแสดงตัวงานที่หาโอกาสชมยาก นอกจากนี้ทางทายาทของ กาลิเลโอ คีนิ ยังได้มอบ “มรดกศิลป์” ของคีนิให้เป็นสมบัติของประเทศไทยหลายรายการ ตั้งแต่ภาพถ่ายชุดประวัติศาสตร์ในสมัยนั้น ภาพจิตรกรรมพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 6 พิมพ์เขียวต้นฉบับของพระที่นั่งอนันตสมาคม และล่าสุดคือภาพจิตรกรรมพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 1
สำหรับนิทรรศการ “100 ปี มรดกศิลป์ กาลิเลโอ คีนิฯ” ต้องถือว่าเป็นงานรวมมิตรที่เสนอภาพรวมของคีนิไว้อย่างรอบด้านพอสมควร
เริ่มตั้งแต่ภาพถ่ายระหว่างการเดินทางบนเรือเดินสมุทร จากเมืองเจนัวในอิตาลี ผ่านเมืองท่าสำคัญระหว่างเส้นทางเดินเรือไปยังตะวันออกไกล ซึ่งต้องใช้เวลาเกือบเดือนกว่าจะไปถึงสยาม ภาพถ่ายสภาพบ้านเมืองและชีวิตความเป็นอยู่ในสยามเมื่อ 100 ปีก่อน ภาพถ่ายงานพระราชพิธีสำคัญ และภาพถ่ายเพื่อการศึกษาสำหรับออกแบบภาพเฟรสโก ส่วนใหญ่น่าจะเป็นภาพที่เขาถ่ายเอง และอาจจะมีบางภาพที่คนอื่นถ่าย แต่กรุภาพของคีนิก็บ่งบอกถึงความสนใจของเขาต่อวิถีชีวิตและการตกแต่งที่แปลกตาสำหรับชาวตะวันตก
งานจิตรกรรมเฟรสโกหรือการวาดภาพปูนเปียก เป็นกลวิธีวาดภาพบนผนังซึ่งต้องทำขณะที่ผิวปูนฉาบยังหมาด เพื่อให้เนื้อสีแทรกซึมเข้าไปในผิวปูนและมีความคงทน ดังนั้นจึงต้องการความชำนาญในการวาดเป็นพิเศษ เพราะต้องทำให้ทันก่อนที่ปูนจะแห้งในแต่ละวัน การออกแบบก็ต้องละเอียดรอบคอบ งานที่คีนิทำขึ้นเพื่อศึกษาประกอบการออกแบบภาพเฟรสโกจึงพอจะหลงเหลืออยู่หลายภาพ
เช่น ภาพร่างก็มีตั้งแต่ลายเส้น หรือลงสีน้ำ-สีฝุ่น-สีเทียนบนกระดาษ เป็นการศึกษาเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ลวดลายและอัญมณีประดับ เครื่องแบบข้าราชบริพาร และรายละเอียดต่างๆ รวมทั้งยังทดลองเขียนภาพสีฝุ่นบนผ้าใบขนาดเท่าจริง เป็นภาพเจ้าพนักงานในเครื่องแบบและท่วงท่าตามตำแหน่งที่กำหนด
ส่วนงานจิตรกรรมสร้างสรรค์ที่เขาทำขึ้นโดยตลอดขณะที่อยู่ในเมืองสยาม จะเห็นถึงจิตใจอันเป็นอิสระจากความคิดที่คุ้นเคย แล้วปลดปล่อยแรงบันดาลใจไปกับบรรยากาศแปลกใหม่ของโลกตะวันออกที่อยู่รายรอบตัว ตั้งแต่ความประทับใจในบรรยากาศแสงสีของทิวทัศน์ วัดวาอาราม แม่น้ำลำคลอง และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน มนต์เสน่ห์ลึกลับของวัฒนธรรมพื้นถิ่น และการตกแต่งประดับประดาที่แปลกตา จนนักวิจารณ์ถือว่างานชุดนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการทำงานจิตรกรรมของคีนิเลยทีเดียว จากการสร้างสรรค์งานศิลปะในแนว “สัญลักษณ์นิยม” (Symbolism) และแนว “นวศิลป์” หรือ “อาร์ต นูโว” (Art Nouveau) ซึ่งกำลังเคลื่อนไหวคลี่คลายกันอยู่ในยุโรปขณะนั้น มาสู่แนวทางของลัทธิประทับใจเชิงจิตวิทยา (Psychological Impressionism) คือจะเป็นภาพที่สะท้อนโลกภายในจิตใจให้ปรากฏออกมาด้วย มิใช่เพียงประทับใจในความงามของโลกภายนอกเท่านั้น เป็นเนื้อหาแทนปรัชญาความคิดที่เขามักจะแสดงออกผ่านสัญลักษณ์มาก่อน เหมือนกับว่าเมื่ออยู่ต่อหน้าโลกตะวันออกแล้ว เขาไม่สามารถคิดอะไรได้เลย นอกจากปล่อยให้เป็นเรื่องของความรู้สึกแปลกหน้า ตื่นตาและอ้างว้างในบางครั้ง เพราะไม่อาจเข้าถึงลึกลงไปกว่าเท่าที่เห็น
หลังจากกลับไปยังอิตาลีแล้ว เขาก็ได้นำงานชุดนี้และที่เขียนเพิ่มร่วมแสดงในงานเวนิสเบียนนาเล ปี พ.ศ. 2457 (ค.ศ. 1914) ในชื่อนิทรรศการ “Nostalgia di Bangkok” ซึ่งประสบความสำเร็จเช่นเคย นักวิจารณ์บางคนถึงกับเปรียบเทียบความงามของมนต์ขลังประหลาดที่คีนิผ่านพบมาจากสยาม กับประสบการณ์ที่เกาะตาฮิติของโกแกงเลยทีเดียว
นอกจากนี้ในงานนิทรรศการ “100 ปี มรดกศิลป์ฯ” ยังมีการจัดแสดงศิลปะเซรามิคหรือเครื่องเคลือบดินเผาของตระกูลคีนิด้วย เพราะกาลิเลโอ คีนิ เป็นกำลังสำคัญในการวางรากฐานของกิจการเครื่องเคลือบดินเผาและการทำกระจกสีเพื่อการตกแต่ง จนเจริญก้าวหน้าสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน จากเครื่องเคลือบดินเผาอันเป็นผลงานการออกแบบของ กาลิเลโอ คีนิ ยังมีผลงานของลูกหลานตระกูลคีนิในชั้นหลัง อย่าง เปาลา โปลิโดริ คีนิ, วิเยริ คีนิ, โดสิโม คีนิ และ มัตเตีย คีนิ ซึ่งยังคงทำงานเครื่องเคลือบดินเผาด้วย “ภาษาศิลป์” ที่สืบทอดมาจาก กาลิเลโอ คีนิ จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
งานเครื่องเคลือบดินเผาและการออกแบบตกแต่งของ กาลิเลโอ คีนิ อยู่ในแนวนิยมแบบ อาร์ต นูโว และ “อาร์ต เดคอ” (Art Deco) ซึ่งได้รับอิทธิพลจากลวดลายการประดับตกแต่งของศิลปะหลากหลายแนวทาง ทั้งศิลปะตะวันตกและตะวันออก ผสมผสานกับวิธีการและวัสดุสมัยใหม่ งานที่เขาทำขึ้นในช่วงแรกจะมีความงามอันจัดจ้าน ซึ่งเกิดจากความแปลกแปร่งของเส้นสีลวดลายที่ขัดตา แต่หลังจากผ่านประสบการณ์ในโลกตะวันออกมาแล้ว งานของเขาก็มีความงามอันกลมกลืนตระการตาเป็นจุดเด่น ประกายแวววาวของลวดลายร่องรอย และการใช้สีทองบนพื้นสีต่างๆ จะถือเป็นภาษาศิลป์ในงานเซรามิคประจำตระกูลคีนิก็ว่าได้
อันที่จริงในช่วงเวลาเช่นนั้น การเมืองในประวัติศาสตร์โลกกำลังผ่านยุคสมัยที่เรียกกันว่าจักรวรรดินิยมใหม่ ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมในประเทศตะวันตก ทำให้ชาติต่างๆ ในยุโรปแข่งขันกันแสวงหาเมืองขึ้นและขยายอาณานิคมของตนอย่างแข็งกร้าว เพื่อผลประโยชน์และความได้เปรียบทางการค้า มิใช่เพียงแค่ขยายอำนาจอย่างยุคก่อน ความตึงเครียดทางการเมืองจึงเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งในภาคพื้นทวีปยุโรปเอง และในดินแดนต่างๆ ที่ต้องรับมือกับการคุกคามจากลัทธิล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก รวมทั้งความขัดแย้งภายในสังคมของตน ระหว่างกลุ่มที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ก้าวหน้ากับกลุ่มที่ต้องการรักษาไว้อย่างเดิม ซึ่งแต่ละแห่งก็จะมีการคลี่คลายความขัดแย้งที่แตกต่างกัน
แต่สำหรับการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรม ช่วงเวลานั้นกลับเต็มไปด้วยร่องรอยของความตื่นตัวที่จะทำความรู้จักกับโลกในอีกด้านหนึ่ง คนในสังคมตะวันตกก็ฉงนสนเท่ห์กับโลกตะวันออก คนในสังคมตะวันออกก็สนใจความเจริญก้าวหน้าของโลกตะวันตก ความมุ่งหมายดังกล่าวสะท้อนออกมาในงานศิลปะหลากแขนง จากจินตนาการประดักประเดิดถึงอีกซีกโลกหนึ่งอันแสนไกลห่าง ผ่านการประสมประเสปนเปกันอย่างเก้ๆ กังๆ จนตกผลึกเป็นความงามที่แปลกตาและลงตัวหลากหลายรูปแบบ
มรดกศิลป์ของ กาลิเลโอ คีนิ เป็นกรณีศึกษาที่เห็นรอยต่อนั้นทั้งสองด้าน
ด้านหนึ่ง – หลังจากยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) พัฒนาการของศิลปะตะวันตกก็เติบโตอยู่ภายใต้ร่มเงาของหลักวิชาที่มีกฎเกณฑ์เป็นมาตรฐานตามเหตุผล และมีศูนย์กลางอยู่ที่มนุษย์ แทนศรัทธาในสิ่งที่เป็นนามธรรม ดังปรากฏงานศิลปะที่ทำรูปเหมือนมนุษย์ขึ้นมากมาย และยังเป็นรูปเหมือนที่ผ่านการศึกษากายวิภาคของโครงสร้างร่างกายมาอย่างจริงจังเป็นระบบแบบแผน จนสามารถกำหนดเป็นบัญญัติส่วนสัด (proportion) ที่เหมาะสมสวยงาม เพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการสร้างสรรค์รูปเหมือนมนุษย์ตามอุดมคติที่สมบูรณ์ นอกจากนั้นยังกำหนดส่วนสัดจัดสรรความสัมพันธ์ขององค์ประกอบในงานแต่ละประเภทให้มีมาตรฐานของความงามที่สมบูรณ์แบบด้วย หรือที่เรียกกันว่าเป็นความงามแบบคลาสสิกนั่นเอง
ปลายศตวรรษที่ 19 การเกิดขึ้นของศิลปะลัทธิประทับใจหรือ “อิมเพรสชั่นนิสม์” (Impressionism) ในฝรั่งเศส ถือเป็นการบุกเบิกศิลปะสมัยใหม่อย่างแท้จริง อย่างน้อยก็ด้วยสำนึกเรื่องเวลา ก่อนหน้านี้การสร้างสรรค์งานจิตรกรรมจะอ้างอิงความงามในอุดมคติตามแบบแผนที่ทำสืบเนื่องกันมาแต่อดีตเป็นหลัก อย่างบรรยากาศในภาพก็มักจะไม่ระบุเวลา และนิยมแสดงความงามของรูปทรงและน้ำหนักแสงเงา (Chiaroscuro) ที่มีลักษณะสถิตเป็นนิรันดร์อย่างงานประติมากรรมมากกว่า งานจิตรกรรมอิมเพรสชั่นนิสม์พยายามเขียนถึงเวลาในขณะปัจจุบันลงในภาพ แต่ปัจจุบันขณะก็ไม่เคยหยุดนิ่งให้จับต้องได้ถนัด เพราะฉะนั้นจึงถ่ายทอดได้แต่เค้าโครงของความประทับใจระหว่างการแปรเปลี่ยนเท่านั้น ขณะที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เรื่องแสงและสีได้เปิดทางให้ศิลปินหันมาสนใจศึกษาแสงสีในบรรยากาศแต่ละช่วงเวลาอย่างจริงจัง งานจิตรกรรมจึงพัฒนามาสู่การแสดงความงามด้วยสีตามคุณลักษณะเฉพาะของมันด้วย
งานศิลปะจากดินแดนอื่นไม่ว่าจะเป็นโลกตะวันออกหรือศิลปะพื้นถิ่นจากที่ต่างๆ กลายมาเป็นแหล่งสร้างแรงบันดาลใจในการแสวงหาเนื้อหาใหม่ที่หลุดพ้นจากธรรมเนียมนิยมเดิม อย่างภาพพิมพ์ญี่ปุ่นซึ่งมีอิทธิพลต่อศิลปินอิมเพรสชั่นนิสม์อย่างมาก ทั้งเนื้อหาที่เป็นการถ่ายทอดภาพทิวทัศน์กลางแจ้ง และภาพชีวิตประจำวันของคนธรรมดา การจัดองค์ประกอบที่มีมุมมองแปลกออกไปจากความคุ้นเคย เรียกได้ว่าทัศนวิสัยของวัฒนธรรมอื่นช่วยเปิดการมองเห็นที่หลากหลายให้แก่อีกวัฒนธรรมหนึ่ง
นอกจากนี้แม้ความก้าวหน้าทางเคมีจะช่วยสกัดสารสีบริสุทธิ์อันเป็นประโยชน์ต่อการวาดภาพได้มากแล้วก็ตาม แต่ศิลปินตะวันตกก็ยังคุ้นกับการผสมสีขุ่นคล้ำเพื่อสร้างน้ำหนักในภาพ การวางโครงสีที่โปร่งเบาในภาพพิมพ์ญี่ปุ่นจึงช่วยปลดปล่อยจินตภาพของการใช้สีให้เป็นอิสระ ศิลปินอิมเพรสชั่นนิสต์เริ่มมองเห็นว่าเงาดำนั้นไม่มีอยู่ในความเป็นจริง และใช้ความต่างของสีแทนค่าต่างแสงโดยไม่ต้องผสมสีดำหรือทำให้คล้ำลง
และด้วยความรุ่มรวยหลากหลายทางวัฒนธรรม โลกตะวันออกจึงเป็นสีสัน (colour) ที่น่าสนใจของชาวตะวันตกเสมอ
เวลาต่อมาศิลปินบางกลุ่มเริ่มรู้สึกว่าวิธีการทำงานของพวกอิมเพรสชั่นนิสต์นั้นมีความจริงจังคร่ำเคร่งอย่างกับการศึกษาวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ เพราะต้องการเข้าถึงความจริงในปรากฏการณ์ภายนอก จนละเลยมิติภายในจิตใจของมนุษย์ นอกจากนี้ยังเกิดปฏิกิริยาต่อความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมเป็นระยะ จนนำไปสู่กระแสความเคลื่อนไหวของขบวนการศิลปหัตถกรรม (Art and Craft Movement) เพื่อรักษาและพัฒนายกระดับงานช่างฝีมือให้มีคุณค่าเหนือกว่า ซึ่งทำให้งานหัตถศิลป์หลายอย่างในยุโรปยังคงสืบทอดมาถึงปัจจุบัน
จากแนวโน้มดังกล่าว ศิลปินส่วนหนึ่งหันไปดำเนินตามคติของงานวรรณกรรมแนว “สัญลักษณ์นิยม” ซึ่งเป็นท่าทีคัดง้างต่องานวรรณกรรมแนว “ธรรมชาตินิยม” (Naturalism) อันเป็นรูปแบบของสัจนิยมสุดขั้วที่มุ่งหมายถ่ายทอดสภาพชีวิตตามความเป็นจริงจนแห้งแล้งแข็งกระด้าง แล้วเกิดเป็นงานศิลปะในแนวซิมโบลิสม์ขึ้นมา ตามคตินิยมนี้ศิลปินจะหยิบฉวยเอารูปแบบของศิลปะหลากหลายแนวทางมาใช้เป็นตัวสัญลักษณ์สื่อแทนความหมายเชิงนามธรรม ภายใต้บรรยากาศลึกลับเหมือนมีบางอย่างแอบแฝง
และส่วนหนึ่งของขบวนการศิลปหัตถกรรมก็คลี่คลายขยายไปครอบคลุมศิลปะหลายแขนง เกิดเป็นรูปแบบที่เรียกว่า “อาร์ต นูโว” แพร่หลายไปทั่ว เริ่มจากในฝรั่งเศส ส่วนในอังกฤษและอเมริกาเรียก “Modern Style” เพราะเห็นว่าเป็นแบบแผนใหม่ในตอนนั้น หรือบางครั้งก็เรียกว่า “Noodle Style” ตามความนิยมในการใช้เส้นที่คดเคี้ยวไปมาเหมือนเส้นก๋วยเตี๋ยวพันกัน เยอรมนีเรียก “Jugendstil” แปลว่าคนหนุ่มสาว ออสเตรียเรียก “Secessione Viennese” และอิตาลีเรียก “Stile Liberty” ซึ่งแต่ละแห่งก็จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน
ลักษณะโดยทั่วไปของศิลปะในแนว อาร์ต นูโว จะอยู่ที่การประดับประดาตกแต่งด้วยลวดลาย ซึ่งส่วนใหญ่จะแสดงนัยถึงธรรมชาติและความเป็นผู้หญิง แม้จะนิยมใช้วิธีการและวัสดุสมัยใหม่ก็ตาม พบเห็นได้ทั้งในงานวิจิตรศิลป์อย่างจิตรกรรมและประติมากรรม ซึ่งประดับประดาด้วยลวดลายเสียจนแพรวพราวละลานตา หรือในงานสถาปัตยกรรม การตกแต่งอาคาร เครื่องเรือน ตลอดจนการออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์ ล้วนเต็มไปด้วยการตกแต่งจนกลายเป็นงานวิจิตรศิลป์ที่มีคุณค่าเกินกว่าประโยชน์ใช้สอย ดังนั้นสุนทรียศาสตร์ของงานในแนวนี้จึงไม่มีพรมแดนระหว่างศิลปะบริสุทธิ์กับศิลปะประยุกต์แบ่งแยกจากกัน
จะเห็นว่าศิลปะในแนวซิมโบลิสม์และ อาร์ต นูโว เป็นภาพแทนของสำนึกถึงความเป็นยุคใหม่ในสมัยนั้นด้วย น่าสนใจว่าเมื่อการปฏิวัติอุตสาหกรมผ่านมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ความรู้สึกของคนในสังคมกลับโหยหาความงามเชิงจิตวิญญาณมาถ่วงดุลกับความเจริญของโลกวัตถุนิยม และการประดิดประดอยจนฟุ้งฝันของศิลปะทั้งสองรูปแบบนั้น มันก็บ่งบอกถึงน้ำหนักของความแห้งแล้งหยาบกระด้างอีกฟากหนึ่งที่ต้องถ่วงให้ทัดเทียมกัน จนคล้ายเป็นการหลีกหนีให้ห่าง อย่าลืมว่าศิลปะร่วมสมัยเดียวกันที่พัฒนาไปในทางตรงกันข้ามก็คือลัทธิสำแดงพลังอารมณ์ (Expressionism) ซึ่งเลือกที่จะสะท้อนความรู้สึกภายในของศิลปินและสภาพสังคมภายนอกออกมาด้วยรูปแบบที่ก้าวร้าวรุนแรง
แหล่งที่มาของแรงบันดาลใจในการแสวงหาแบบอย่างที่แสดงความงามเชิงจิตวิญญาณนั้น นอกจากมรดกทางศิลปะในอดีต อย่าง ความนุ่มนวลอ่อนหวานของสุนทรียภาพแบบรอคโคโค (Rococo) และการแสดงอารมณ์ความรู้สึกแบบจินตนิยม (Romanticism) แล้ว ยังมีศิลปะจากดินแดนอันลี้ลับห่างไกล อย่าง ศิลปะอียิปต์โบราณ ศิลปะของชนเผ่าอนารยะ ศิลปะตะวันออกกลาง และศิลปะตะวันออกไกล เช่น วัฒนธรรมจีนและญี่ปุ่น เป็นต้น
ความสนใจใคร่รู้ในมนต์เสน่ห์อันลี้ลับของโลกตะวันออก ส่วนหนึ่งจึงมาจากความรู้สึกโหยหาทางจิตวิญญาณที่ขาดหายไปนั่นเอง.
[อ่านต่อ ส่วนสัดตะวันตก สีสันตะวันออก (2)]
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น